ดีเดย์แล้ว ประกาศกระทรวงสาธารณสุขพ.ศ.2552 ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 เรื่องให้ผู้ผลิตนำเข้าบุหรี่ พิมพ์ 10 ภาพคำเตือนภัยบุหรี่ให้ผู้สูบเห็นอันตรายของบุหรี่ทุกครั้งก่อนจะสูบพร้อมเบอร์สายด่วน 1600 เลิกสูบบุหรี่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 มีนาคม 2553
ไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่ใช้สื่อภาพเตือนตรงถึงกลุ่มผู้สูบ โดย 5 ประเทศ อาทิ บรูไน มาเลเซียสนใจขอต้นแบบไปใช้ด้วย
นางพรรณสิริ กุลนารถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งสัญญาณเตือนคนไทยลดละสูบบุหรี่ทุกชนิด เพื่อลดการเจ็บป่วยจากการสูดสารอันตรายที่อยู่ในบุหรี่ที่มีมากถึง 4,000 ชนิด เป็นสาเหตุทำให้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด รวมทั้งโรคถุงลมปอดโป่งพองเรื้อรังซึ่งทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานจากอาการหอบ ล่าสุดนี้มีคนไทยป่วยจากโรคนี้ประมาณ 200,000 คน
สาระว่าด้วยการบังคับให้บริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าบุหรี่ทุกชนิดที่นำมาจำหน่ายในประเทศไทย ต้องพิมพ์ภาพคำเตือนภัย จำนวน 10 ภาพพิมพ์ด้วย 4 สี มีพื้นที่ขนาดร้อยละ 55 บนซองบุหรี่ด้านหน้าและด้านหลังทุกซอง
วิธีการพิมพ์ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่นี้ถือว่าเป็นการรณรงค์ให้ข้อมูลแก่ผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่ตรงกลุ่มที่สุดและประหยัดที่สุด เป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลกว่า วิธีนี้เป็นการให้ข้อมูลที่มีความสม่ำเสมอ ผู้สูบบุหรี่จะได้ข้อมูลทุกครั้งที่หยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ และใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะสูบต่อหรือเลิกสูบ
ภาพคำเตือน 10 ภาพ ประกอบด้วย 1.สูบแล้วหัวใจวายตาย 2.สูบแล้วถุงลมโป่งพองตาย3.สูบแล้วเป็นมะเร็งปอดตาย 4.ควันบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็ง 10 ชนิด 5.สูบแล้วเป็นมะเร็งกล่องเสียง 6.สูบแล้วเส้นเลือดสมองตีบตาย 7.สูบแล้วเป็นมะเร็งช่องปาก 8.ควันบุหรี่ฆ่าคนใกล้ชิด9.สูบแล้วปากเหม็นบุหรี่ และ 10.สูบแล้วเท้าเน่าภาพ คำเตือนเหล่านี้อาจต้องปรับเปลี่ยนทุก 2 ปีเพื่อป้องกันความซ้ำซาก
นอกจากนี้ การบังคับพิมพ์ภาพคำเตือนนี้ยังมีผลในการควบคุมบุหรี่เถื่อนหรือบุหรี่หนีภาษีอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ มติชน