ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เป็นข้อความที่ปรากฏอยู่ในธนบัตรทุกฉบับ แต่หากธนบัตรนั้นเกิดชำรุด เนื้อบางส่วนหายไปเหลือไม่เต็มฉบับ หรือลวดลายลบเลือน ก็ยังเป็นธนบัตรที่มีค่า แต่ควรนำไปแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรฉบับใหม่ พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 กำหนดหลักเกณฑ์เกณฑ์
การแลกเปลี่ยนค่าธนบัตรชำรุดไว้ดังนี้
1. ธนบัตรชำรุดครึ่งฉบับ แบ่งแยกตรงกลางหรือใกล้กับกลางเป็นสองส่วนตามแนวยืน จะเป็นด้านซ้ายหรือขวาก็ตาม ถ้ามีเนื้ออยู่ในเกณฑ์ครึ่งฉบับ แลกค่าได้ครึ่งราคาของราคาเต็ม
2. ธนบัตรชำรุดครึ่งฉบับต่อท่อนผิด คือ ธนบัตรต่างฉบับกันแต่เป็นธนบัตรชนิดราคาเดียวกัน แต่ละท่อนมีเนื้ออยู่ในเกณฑ์ครึ่งฉบับ จะเป็นแนวยืนหรือแนวนอน แลกเปลี่ยนได้เต็มราคาของธนบัตร
3. ธนบัตรชำรุดลักษณะขาดวิ่น เป็นธนบัตรที่ส่วนหนึ่งหายไป เช่น ถูกไฟไหม้ ถูกแมลงกัดแทะ หรือฉีกขาด หากส่วนที่เหลือมีมากกว่าครึ่งฉบับก็แลกเปลี่ยนได้เต็มราคาของธนบัตร
4. ธนบัตรชำรุดลบเลือน เป็นธนบัตรที่มีเนื้ออยู่เต็มฉบับ แต่สีเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เลอะเลือน เนื่องจากถูกน้ำมันบางชนิด ถูกความร้อนสูง ถูกน้ำยาเคมี สีย้อมผ้า หรือถูกไฟไหม้เกรียม ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นธนบัตรที่แท้จริง ก็นำไปแลกได้เต็มราคาของธนบัตรฉบับนั้น
สถานที่รับแลกเปลี่ยน ธนบัตรชำรุดสามารถติดต่อขอแลกเปลี่ยนได้ที่
ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม และส่วนเงินตราสุรวงศ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคลังจังหวัด และสำนักงานคลังอำเภอทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ส่วนคำแนะนำให้ช่วยรักษาธนบัตรให้มีอายุยืนยาว ทำได้โดย
1. เก็บธนบัตรในลักษณะเหยียดตรง หลีกเลี่ยงการพับและการกรีดด้วยของแข็งจนเป็นรอย
2. เก็บธนบัตรให้ห่างจากความชื้น ความร้อน หรือเปลวไฟ
3. หลีกเลี่ยงการขีดเขียน ประทับตรา หรือเย็บธนบัตรด้วยลวดเย็บ หรือลวดเสียบกระดาษ
4. ใช้ธนบัตรด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการขยำขยี้ หรือทำให้ฉีกขาด
วิธีการดังกล่าวนี้นอกจากจะทำให้ธนบัตรมีอายุการใช้หมุนเวียนได้ยืนยาวแล้ว ยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์ธนบัตรของประเทศอีกด้วย
เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของธนบัตรชำรุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชน สามารถนำธนบัตรชำรุดมาแลกเปลี่ยนตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้
กรณีที่ ๑ เขียนคำร้องขอแลกเปลี่ยน
ได้แก่ ธนบัตรชำรุดครึ่งฉบับ ธนบัตรต่อท่อนผิด และธนบัตรขาดวิ่นที่มีเนื้อน้อยกว่า ๓ ใน ๕ ส่วน ผู้ขอแลกต้องเขียนคำร้องขอแลกเปลี่ยนตามแบบที่กำหนดพร้อมแนบธนบัตรชำรุดยื่นต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อนำส่งให้ ธปท. พิจารณาค่าแลกเปลี่ยน โดย ธปท. จะโอนเงินค่าแลกเปลี่ยนเข้าบัญชีออมทรัพย์ หรือส่งทางไปรษณีย์ธนาณัติให้กับผู้ขอแลกตามที่ระบุไว้ในคำร้องขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด
สำหรับธนบัตรชำรุดที่ถูกไฟไหม้เกรียม ถูกสัตว์หรือแมลงกัดแทะ หรือเปี่อยติดกันเป็นปึกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจได้รับความเสียหายระหว่างจัดส่ง ผู้ขอแลกต้องนำธนบัตรไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อออกหลักฐานการติดต่อก่อนนำมาขอแลกที่สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนบัตรถูกไฟไหม้เกรียม | ถูกปลวกกัดแทะ |
เปื่อยติดกันเป็นปึก |
กรณีที่ ๒ แลกเปลี่ยนได้ทันที
ได้แก่ ธนบัตรชำรุดที่มีเนื้อธนบัตรเหลืออยู่เกิน ๓ ใน ๕ ส่วน ผู้ขอแลกสามารถยื่นและรับเงินค่าแลกเปลี่ยนได้เต็มราคาหน้าธนบัตร
> การขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุดไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น <