...ข่าวศพเด็กทารกที่เห็นมากมาย สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องการเกิดอย่างมาก และเกี่ยวข้องกับการท้อง ก่อนวัยอันควรของเด็กวัยรุ่นด้วย ซึ่งจากข่าวนี้เราสามารถที่จะขยายผลได้ไปไกลมาก...
...เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุของ รุ่งมณี เมฆโสภณ กรรมการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2553 ในงานมอบรางวัลโครงการประกวดข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็กในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา และในโรงเรียน ประจำปี 2553 ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนโดยองค์กรด้านเด็ก คือองค์การยูนิเซฟ (ประเทศไทย)
เป็นการระบุที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่อง สิทธิที่จะมีชีวิตของเด็ก อีกหนึ่งประเด็นสิทธิเด็กที่ เดลินิวส์ ให้ความสำคัญในการปลุกสังคมให้ตระหนัก ซึ่งข่าวสกู๊ป กระตุกสังคมต้านโหด สิทธิที่จะมีชีวิต หยุดละเมิดเด็กซ้ำซาก โดยโต๊ะข่าวสกู๊ป หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ก็เพิ่งได้รับรางวัลข่าวส่งเสริมสิทธิเด็กในปี 2553 นี้
ศพเด็กทารกมากมาย...ปรากฏในข่าวทำแท้งเถื่อน
เด็กทารกเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้ลืมตาดูโลกด้วยซ้ำ...
ทั้งนี้ สิทธิที่จะมีชีวิต ถือเป็นสิทธิก้าวแรกที่สำคัญของชีวิตเด็ก อาจกล่าวได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สุดใน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่หลักใหญ่ใจความประกอบด้วย 4 ประเด็น อย่างที่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ได้สรุป และเรียงลำดับไว้ กล่าวคือ... หนึ่ง... เด็กเกิดมาต้องมีชีวิตรอด เป็นพันธะสำคัญที่ต้องทำทุกวิถีทางให้เด็กทุกคนที่คลอดออกมาจากท้องแม่ ไม่ตายลงอย่างง่ายดายด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
สอง...เด็กต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง ด้วยการไม่ให้ถูกทำร้ายทารุณกรรม หรือถูกนำไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เช่น ถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส ถูกนำไปค้าประเวณี ถูกนำไปเป็นทหารเพื่อสู้รบ ถูกนำไปค้ายาเสพติด ถูกนำไปถ่ายภาพลามก, สาม...เด็กต้องได้รับการพัฒนาโดยรอบด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา, สี่...เด็กต้องมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งประเด็นหลังนี่คือมิติใหม่ของโลกที่ตระหนักชัดเจนถึงความรู้ ความสามารถ และความต้องการแสดงออกของเด็ก ว่ามีอยู่อย่างมากมาย และผู้ใหญ่ต้องให้ความสำคัญ
สิทธิที่จะมีชีวิต...เน้นว่าเด็กเกิดมาต้องมีชีวิตรอด
แต่เด็กที่เกิดแล้วโดยยังอยู่ในท้องแม่...ก็คือชีวิต!!
แม้คำจำกัดความของ เด็ก ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จะหมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส โดยที่ไม่มีการระบุถึง ชีวิตเล็ก ๆ ที่กำเนิดเกิดขึ้นในครรภ์ และต่อให้ในทางคำจำกัดความเรื่องสิทธิเด็กอาจจะยังคลุมเครือในกรณีชีวิตหนึ่งที่กำเนิดเกิดขึ้นในครรภ์ แต่จะอย่างไรชีวิตเล็ก ๆ กลุ่มนี้ก็คือ เด็ก เช่นกัน
การทำลายชีวิตเด็กกลุ่มนี้จึงมิใช่แค่เรื่องผิดศีลธรรม
มิใช่แค่เรื่องการทำผิดกฎหมายอาญา-สาธารณสุข!!
ก็อย่างที่กรรมการบริหารสถาบันอิศรา ระบุไว้ว่า... ข่าวศพเด็กทารกที่เห็นมากมาย สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องการเกิด อย่างมาก ซึ่งเป็นการระบุต่อเนื่องจากประโยคก่อนหน้า คือ... เรื่องสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของเด็ก เกี่ยวข้องกับเรื่องการเกิดชัดเจน ทั้งนี้ เมื่อการเกิดและการมีชีวิตเกี่ยวข้องกัน ก็ย่อมสำคัญเหมือนกัน
โดยหลักการควรจะเป็นแบบนั้น เพราะเด็กทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วต้องไม่ตาย การมีชีวิตรอดถือเป็นสิทธิ แม้ว่าเด็กจะยังอยู่ในครรภ์ก็ตาม ...เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ระบุผ่าน สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์ กับประเด็น เด็กทารกในครรภ์ ซึ่ง สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์ ตั้งข้อสังเกตว่าก็ ควรจะได้รับการเคารพในสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ซึ่งคนทำงานด้านเด็กรายนี้ก็เห็นพ้อง
พร้อมทั้งยังชี้อีกว่า... ปัญหาละเมิดสิทธิเด็กกรณีนี้ต้องมองที่ตัวแม่เด็กด้วย เพราะเมื่อพูดเรื่องนี้ก็จะมีทางอยู่ 2 แพร่ง คือ การยอมเป็นคุณแม่วัยใส กับ การเป็นคุณแม่ทำแท้ง ซึ่งถ้าไม่อยากให้เกิดทาง 2 แพร่งนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องมาพูดคุยในเรื่องการให้ความรู้เรื่องป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรอย่างจริงจังและเป็นระบบมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยต้องทำอย่างต่อเนื่องจริงจัง ควรมีหน่วยงานดูแลเฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดคุณแม่ทำแท้ง
ปัจจุบันการทำแท้งมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นราว 2 แสนคนต่อปี ขณะที่สถานการณ์คุณแม่วัยใสของเราก็มีอัตราสูงเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ซึ่งเมื่อสังคมพุทธมองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิด เราก็ควรต้องช่วยกันทำให้คุณแม่วัยใสสามารถเลี้ยงลูกต่อไปให้ได้ ก็อาจจะทำให้ปัญหาคุณแม่ทำแท้งลดลง ซึ่งก็เท่ากับจะมีส่วนช่วยลดอัตราการ ลิดรอนสิทธิในการมีชีวิตรอดของเด็ก ได้ด้วย ...ครูหยุยระบุ
เด็กถูกทำแท้ง ก็เท่ากับ เด็กถูกละเมิดสิทธิ เช่นกัน
เป็นการ ละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต ซึ่งถือเป็นสิทธิสำคัญ
เรื่องนี้ทุกฝ่ายในสังคมไทยต้องร่วมกันแก้ปัญหาด่วน!!.
ขอบคุณหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์