สิทธิการตาย กับ หน้าที่ทำให้ตาย


มิถุนายนที่ผ่านมา กรรมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภาได้จัดประชุมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "การแสดงเจตจำนงเรื่องการปฏิเสธการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย"

มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก อาทิเช่น แพทย์ พยาบาล นักกฎหมาย นักวิชาการ สื่อมวลชน รวมทั้ง คุณเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ซึ่งเป็นทนายความที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญหลายอย่างในสังคม ยังอดรนทนไม่ได้ต่อการกระทำของคนที่ผลักดันกฎหมายนี้ออกมา ปัญหาของเรื่องนี้เริ่มมาจากมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งระบุไว้ดังนี้
 

มาตรา 10 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง
 

สรุปง่ายๆ คือ ทุกคนมี "สิทธิปฏิเสธการรักษา" ภายใต้ข้อแม้ว่า "ต้องเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต" หรือ "ได้รับความทรมานจากการเจ็บป่วย" หากแพทย์/พยาบาลทำตามความต้องการของเจ้าของสิทธิ คือ "ไม่ให้การรักษา" แพทย์/พยาบาลก็ไม่มีความผิดฐานปล่อยให้ผู้ป่วยในความดูแลของตนตาย
 

ฟังดูเผินๆ เหมือนไม่น่าเป็นปัญหา เพราะทุกวันนี้หากมีผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา คงไม่มีแพทย์คนไหนอยากให้การรักษา เพราะไม่รู้จะทำให้ไปเพื่ออะไร ขืนทำไปอาจมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายหรือผิดฐานละเมิด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริงคงต้องถามว่า "แล้วทำไมต้องมีกฎหมายนี้ออกมาให้วุ่นวาย" เท่านี้ยังไม่พอ ผู้ผลักดันที่กินอิ่มและอยากหาอะไรทำ ที่สุภาษิตจีนเรียกว่า "เจี๊ยป้า บ่อซื๋อ" ยังได้เพิ่มกฎกระทรวงที่อ่านแล้ว แทบตกใจหงายหลัง ดังนี้
 

ข้อ 2 วาระสุดท้ายของชีวิต หมายถึง ...โรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้...นำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเวลาอันใกล้..รวมทั้งการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ ที่ทำให้ขาดความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างถาวร
 

การทรมานจากการเจ็บป่วย หมายถึง ...ความทุกข์ทรมานทางกายหรือจิตใจ...อันเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้
 

แสดงว่าผู้ออกกฎกระทรวงนี้ทราบดีว่า คำจำกัดความสองอันนี้เป็นตัวปัญหาของกฎหมายนี้ จึงพยายามทำสิ่งที่เป็น นามธรรมให้เป็นรูปธรรม โดยการขยายความคำสองคำดังกล่าว ซึ่งไม่ว่าแพทย์หรือพยาบาล (ที่ยังรักษาผู้ป่วยอยู่จริง) ท่านใดอ่านก็แทบจะตกใจตกเก้าอี้ เพราะหากทำตามคำจำกัดความสองคำนี้ แสดงผู้ผลักดันกฎหมายนี้กำลังสั่งให้แพทย์/พยาบาล ละทิ้งการรักษาผู้ป่วยและทำตัวเป็นมัจจุราช เพราะไม่ว่าโรคเล็กโรคน้อยล้วนแต่สร้างความทุกข์ทรมานทางกายหรือจิตใจได้ทั้งสิ้น หลายโรครักษาให้หายขาดไม่ได้ เช่น ความดันสูง เบาหวาน เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก ซึ่งเมื่อรักษาก็ไม่แน่ว่าจะหายจากความทรมานไปได้ อย่าว่าจะกำหนดวันตายให้คนอื่น แม้แต่เวลาตายของตนเองก็ยังบอกไม่ได้ การทำตามกฎกระทรวงนี้จึงเป็นการขัดจรรยาบรรณแพทย์อย่างรุนแรง แถมยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องฐานละเมิด เพราะ "พยายามรักษาผู้ป่วยโดยเขาไม่เต็มใจ" หรือ "ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา" หรืออาจถูกฟ้องฐาน "ให้ข้อมูลที่ไม่กระจ่างหรือไม่ถูกต้อง" เช่นบอกว่าน่าจะไม่รอดแต่ผู้ป่วยกลับรอด หรือบอกว่าน่าจะรอดแต่กลับตาย อีกทั้งในกฎกระทรวงยังทำเกินที่ พ.ร.บ.ให้อำนาจไว้ด้วยการสร้าง "หน้าที่ให้แพทย์" ดังนี้  "ให้ผู้ประกอบวิชาชีพรับผิดชอบอธิบายภาวะและความเป็นไปของโรคแก่ผู้ป่วยหรือญาติ" ทุกวันนี้ แค่อธิบายวิธีการช่วยชีวิตยังถูกกล่าวหาว่า "พูดไม่รู้เรื่อง" "สื่อสารไม่เป็น" แต่นี่กลับสั่งให้อธิบายเหตุผลที่จะปล่อยให้ตาย ซึ่งหากตายไปจริง ๆ แล้วญาติคนอื่นไม่ยอมหรือแพทย์คนอื่นไม่เห็นด้วย จะโกลาหลขนาดไหน


กฎหมาย "ปาณาติปาต"
 
ในตัวอย่างพินัยกรรมที่ร่างมาให้แพทย์ดูยังมีข้อความระบุให้ "แพทย์/พยาบาล" มีหน้าที่ "ถอดถอน" การรักษา ซึ่งเป็นการออกกฎหมายเกินกว่าที่ พ.ร.บ.ให้อำนาจ เพราะ พ.ร.บ.นี้ให้แต่เพียง "สิทธิในการปฏิเสธการรักษา" แต่กฎกระทรวงกลับพยายามบังคับให้แพทย์มี "หน้าที่ในการถอดถอน (witdraw) การรักษา" เช่น การกดปุ่มปิดเครื่องช่วยหายใจ การถอดถอนเครื่องพยุงชีพ การถอดท่อช่วยหายใจ เป็นต้น ไม่รู้ว่ามีมารอะไรมาดลใจให้มีการออกกฎหมายที่มีหลักการดูดีแต่เนื้อหากลับสั่งให้คนอื่นกระทำ "ปาณาติปาต" ต่อผู้ป่วยได้เช่นนี้ แม้ผู้ผลักดันดังกล่าวพยายามเบี่ยงเบนด้วยการเล่นบาลีว่ากฎหมายนี้มิใช่ "การุณยฆาต" เพราะไม่ได้สั่งให้แพทย์ไปเร่งการตายด้วยการกระทำ เช่น ฉีดยาให้ตาย แต่คงแกล้งลืม ว่า "การละเว้นการกระทำด้วยการไม่รักษา" ภาษากฎหมายเขาเรียก "การกระทำ" เหมือนกัน ยิ่งหากให้แพทย์พยาบาลเป็นคนไปถอดท่อช่วยหายใจผู้ป่วยที่มิใช่ญาติของตน แถมอยู่ในความดูแลของตน ผู้ผลักดันกฎหมายนี้ได้ถามใจตนเองหรือยังว่า จะกล้าทำได้ด้วยน้ำมือตนเองหรือไม่ หากกล้าทำ ทุกโรงพยาบาลคงเชิญท่านเหล่านี้ มาทำหน้าที่ถอดถอนแทน


ทำไมถึงต้องมีกฎหมายนี้
 
ในทุกๆ เวทีที่มีการพูดเรื่องนี้ ไม่มี แพทย์พยาบาลคนไหนพูดว่า ตนเองอยากทรมานผู้ป่วยที่หมดหวังด้วยการให้การรักษาไปเรื่อยๆ เพียงเพื่อต้องการความสะใจหรือต้องการเงิน ทุกวันนี้ มีผู้ป่วยหมดหวังในโรงพยาบาลมากมายที่แพทย์พยาบาลต้องดูแลแต่ไม่ใคร่มีปัญหา เพราะเมื่อเขาเหล่านั้นแน่ใจ ก็จะค่อยๆ พูดกับญาติให้รับทราบ หากญาติไม่เห็นด้วยก็อาจไปปรึกษาแพทย์ที่ไว้วางใจ จนเมื่อยอมรับได้ก็อาจขอให้แพทย์ช่วยพูดคุยกับผู้ป่วย (ถ้ายังรับรู้อยู่) ให้สบายใจ เมื่อมาถึงจุดหนึ่งก็จะหยุดการรักษาที่ไม่จำเป็น แต่ไม่ปรากฏว่ามีแพทย์พยาบาลคนไหนเต็มใจกดปุ่มปิดเครื่องพยุงชีพ เพราะแทบทุกราย ญาติก็จะขอให้เป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่มีการเร่งการตายด้วยการกดปุ่มปิดอะไรทั้งนั้น หรือในสถานการณ์ที่ค่อนข้างโหดร้ายที่ญาติต้องการเร่งให้เสียชีวิตเพราะปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย แม้จะสั่งให้แพทย์พยาบาลทำ ก็ไม่มีคนยอมทำให้ หากต้องการเช่นนั้น ญาติต้องทำเอง ซึ่งมักลงเอยด้วยการปล่อยให้ไปตามธรรมชาติและถือว่าการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายให้เป็นไปแบบธรรมชาติแม้จะต้องใช้เวลาเพิ่มเติมแต่ก็ถือเป็นการเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับทั้งญาติและผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ การได้ตอบแทนบุญคุณคนที่เรารัก
 

คาดว่าผู้ผลักดันคง คิดเอง เออเอง ด้วยอคติใดไม่ทราบ ว่า "แพทย์ พยาบาล หรือสถานพยาบาล ต้องการเลี้ยงไข้เพื่อเอาเงิน" จึงพยายามออกกฎหมายให้ยุติการรักษาโดยมอบหมายหน้าที่ในการกระทำให้แก่ "แพทย์ พยาบาล หรือสถานพยาบาล" เพราะดูจากเนื้อหาในกฎกระทรวงที่ว่า "ให้สถานบริการให้ความร่วมมือ ในประเด็นเรื่องสถานที่เสียชีวิต ความต้องการเยียวยาทางใจ การทำตามประเพณี ความเชื่อทางศาสนา" แสดงว่าผู้ผลักดันคงมองว่าทุกวันนี้ สถานพยาบาลเป็นเหมือนโรงฆ่าสัตว์ที่ไม่ยอมทำความต้องการของเหยื่อหรืออย่างไรไม่ทราบ


ทางออกของปัญหา
 
กฎหมายนี้เป็นหนึ่งในกฎหมายตัวอย่างที่ถูกผลักดันโดยกลุ่มคนเดียวกันกับที่พยายามออกกฎหมายการแพทย์มาบังคับใช้กับบุคลากรสาธารณสุข ภายใต้อคติทางลบมาตลอด นับแต่ พ.ร.บ.คุ้มครอง  เจ้าปัญหาที่พยายามเปลี่ยนความเจ็บป่วยเป็นผลตอบแทนรูปตัวเงินแบบชิงร้อยชิงล้าน โดยการเปลี่ยน "กรรม" หรือ "โชคชะตา" มาเป็นความผิดของผู้รักษาพยาบาลทั้งหมด ความเป็นจริงนั้นแพทย์พยาบาลมักพบกรณี "การรักษาที่มากเกินควรเพราะไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย" มากกว่ากรณี "ไม่ต้องการรับการรักษา ที่สำคัญ หากต้องการตายอย่างสงบ ควรส่งเสริมให้เตรียมตัวก่อนตายตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เพราะเราทุกคนมี "หน้าที่ที่ต้องตาย" อยู่แล้วนับแต่เกิดมา จึงไม่จำเป็นต้องออกกฎหมาย "สิทธิการตาย" มาใช้แต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นขืนปล่อยให้กฎหมายนี้ถูกบังคับใช้ต่อไป คงได้เห็นภาพ "เนรคุณ" ต่อบุพการี ด้วยความต้องการ "สิ้นสุดภาระ" เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นแน่แท้ อย่าลืมว่าสังคมไทยมิใช่สังคมโดดเดี่ยวแบบที่ฝรั่งเป็น การตัดสินใจเรื่องความเป็นความตายไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว แพทย์/พยาบาล ยิ่งไม่มีหน้าที่ไปกระทำการใดๆ ที่เป็นเสมือนการทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้เร็วขึ้นตามความต้องการของคนอื่น ที่สำคัญ คนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าใครก็ตามที่มีส่วนในการกระทำผิดศีลข้อ 1 ถือเป็นบาปหนัก (ไม่เว้นแต่คนที่มีส่วนปล่อยให้กฎหมายแบบนี้คลอดออกมา) หวังว่า  รมต.สาธารณสุข/นายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือผู้เกี่ยวข้องในทางศาล คงไม่ใจร้ายปล่อยให้กฎหมาย "ปาณาติปาต" นี้มีผลบังคับใช้ต่อไป

 






Pooyingnaka Wellness