1. วิตามินป้องกันไข้หวัดได้
ศาสตราจารย์ด้านโภชนาศาสตร์อธิบายว่า "มีหลักฐานบางประการที่แสดงว่า การได้รับวิตามินซีในขนาดมากพอในระยะแรกของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจะออกฤทธิ์ ป้องกันไม่ให้เป็นหวัดอย่างรุนแรง"
คำว่า "ขนาดมากพอ" ไม่ได้หมายถึงขนาดหลายพันมิลลิกรัมอย่างที่มีผู้แนะนำว่าเป็นยาครอบจักรวาลซึ่งรักษาได้ทุกโรค กุมารแพทย์กล่าวเตือนว่า "จากการวิจัยพบว่า วิตามินซีขนาดสูงสามารถทำให้ท้องเสียและระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการได้รับวิตามินซีไม่ใช่การกินยาเม็ด แต่เป็นการกินอาหารที่ประกอบด้วยวิตามินซี
2. อย่าว่ายน้ำหลังกินอาหารอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงถ้าไม่อยากเป็นตะคริว
อาจเป็นได้ถ้ากินอาหารมื้อหนัก ทั้งนี้ในทางการแพทย์อธิบายว่าเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนโลหิต ขณะกินอาหาร โลหิตจะไปคั่งอยู่ในระบบทางเดินอาหารมากขึ้นเพื่อช่วยการย่อยอาหาร ส่วนการออกกำลังกายก็ทำให้โลหิตไหลเวียนมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากต้องนำออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ ถ้าร่างกายย่อยอาหรและออกกำลังหนักในเวลาเดียวกัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้เป็นตะคริวได้
"แต่อาการนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อกินอาหารมื้อหนักแล้วไปออกกำลังกายอย่างรุนแรง" อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการบาดเจ็บกล่าวว่า "ถ้าเป็นตะคริวขณะออกกำลังบนพื้นดินควรนั่งพักจนกว่าอาการจะหาย แต่ถ้าเป็นขณะอยู่ในน้ำจะเสี่ยงต่อการจมน้ำ เนื่องจากเราไม่สามารถหยุดว่ายน้ำได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ควรเชื่อคำเตือนไว้ก่อน" และหลังกินอาหารว่างแล้วไปว่ายน้ำในบ่อตื้นๆจัดว่าไม่เป็นอันตรายหรือมีความเสี่ยงน้อยมากค่ะ
3. จะเป็นหวัดถ้าออกไปนอกบ้านขณะผมเปียก
หัวหน้าคณะวิจัยเรื่องอุณหภูมิในร่างกายลดต่ำกว่าปกติทำการศึกษาโดยให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งนอนแช่ในน้ำเย็นจัดเป็นเวลาหลายชั่วโมง และพบว่าไม่มีใครเป็นหวัดหลังแช่น้ำเลย ความจริงก็คือ ความเครียดจากความเย็นจัดมีผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้ติดเชื้อไว้รัสหวัดง่ายขึ้น สรุปว่าสิ่งที่ทำให้เป็นหวัดคือเชื้อไวรัสไม่ใช่ความเย็น
4. เมื่อถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวกให้ใช้เนยหรือน้ำแข็งโปะ
เนื่องจากเนยมีลักษณะข้นและเป็นมันคล้ายขี้ผึ้งจึงมาใช้ทดแทนขี้ผึ้ง แต่เนยไม่ช่วยระงับปฎิกิริยาที่เกิดจากการไหม้ ไม่ช่วยรักษาแผลหรือป้องกันเนื้อเยื่อถูกทำลาย ขณะที่เนยไม่ช่วยให้ดีขึ้น การใช้น้ำแข็งอาจยิ่งทำให้อาการแย่ลง เพราะทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลายมากขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือใช้น้ำเย็น ซึ่งสามารถช่วยหยุดปฎิกิริยาและป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อที่อยู่ในชั้นลึกต่อไป
5. ซุปไก่ช่วยรักษาไข้หวัด
ไม่มีอะไรรักษาไข้หวัดได้ แต่นักวิจัยกล่าวว่าซุปไก่ช่วยให้อาการดีขึ้นได้ เมื่อสิบปีที่แล้ว นักวิจัยชาวแคนาดาให้ภรรยาทำซุปสูตรคุณย่าเพื่อนำมาศึกษาในหลอดแก้ว และพบว่าน้ำซุปสามารถขัดขวางการเคลื่อนตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดการบวมที่หลอดลม นอกจากนี้ ในเนื้อไก่ยังมีสารซีสเทอีนซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่มีฤทธิ์คล้ายยาละลายเสมหะ และมีเครื่องเทศซึ่งนักวิจัยแห่งคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยยูซีแอลเอทำการทดลองอาหารที่ใส่พริกป่นและผงกะหรี่ พบว่าแคปไซซินที่ทำให้เกิดรสเผ็ดในพริกออกฤทธิ์คล้ายยาขับเสมหะและยาลดอาการบวม ดังนั้น ซุปคุณย่าจึงมีสรรพคุณมากกว่าเป็นแกงร้อนๆที่ซดแล้วโล่งคอ
6. ดื่มนมขณะเป็นหวัดจะยิ่งทำให้คัดจมูก
ในปี 2533 นักวิจัยชาวออกเตรเลียศึกษาโดยให้อาสาสมัครจำนวน 60 คน ติดเชื้อไวรัสในระบบหายใจ จากนั้นบันทึกการดื่มนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมแล้วเก็บวัดปริมาณน้ำมูก พบว่าผู้ที่ดื่มนมไม่มีปริมาณน้ำมูกหรือคัดจมูกมากกว่า แต่ในผู้ที่มีอาการไอร่วมด้วยพบว่าร้อยละห้าของผู้ที่ดื่มนมและกินเนยมากมีเสมหะน้อยกว่า
7. การกินแครอททำให้สายตาดีขึ้น
อาจเป็นวิธีหลอกเด็กให้กินผัก แต่เรื่องนี้กลับตรงกับความจริงทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเบตาแคโรทีนในแครอตเป็นแหล่งสำคัญของวิตามินเอและการขาดวิตามินนี้ทำให้ตามัวในตอนกลางคืน (มองเห็นไม่ชัดในที่มืด)
8. เด็กมีโอกาสติดเชื้อโรคง่ายเมื่อเข้าไปในโรงพยาบาล
"ผมไม่เชื่อเช่นนั้น" กุมารแพทย์ท่านหนึ่งกล่าว ในช่วงที่อากาสเย็น คนไข้ราวแปดถึงสิบคนไปรอพบแพทย์อาจเป็นไข้หวัดหรือโรคติดเชื้อ แต่โอกาสที่เด็กจะติดตามไปด้วยไม่ได้มากไปกว่าในซูเปอร์มาร์เกต สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือห้างสรรพสินค้าที่มีผู้คนหนาแน่น และไม่เกี่ยวกับความเป็นเด็กด้วย
9. ผักโขมทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
เด็กคงจำมาจากตัวการ์ตูนป๊อปอายซึ่งต้องกินผักโขมเพื่อเพิ่มพลังแต่ไม่เป็นความจริง ธาตุเหล็กในอาหารมีสองชนิดคือชนิดที่มาจากเลือด พบในเนื้อสัตว์ เป็น ไก่ และปลา กับชนิดที่ไม่ใช่เลือด พบในผัก ธัญพืชและถั่วเมล็ดแข็ง ชนิดที่ไม่ใช่เลือดถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย แม้ผักโขมจะมีธาตุเหล็ก แต่สารออกซาเลตในผักโขมกลับเป็นตัวขัดขวางการดูดซึม (เราได้รับธาตุเหล็กจากผักโขมเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น)
10. ลูกอมทำให้ฟันผุ
ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อาหารคาร์โบไฮเดรตที่ข้นและเหนียวเช่นขนมปังหรืออาหารจำพวกแป้งมีผลเสียต่อฟันมากกว่าน้ำตาล ฟันผุเกิดจากกรดในเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ในปาก ทำลายเกลือแร่ในบริเวณครอบฟันที่แข็งแรง ทำให้ฟันผุกร่อนและเป็นช่องให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไป ทันตแพทย์กล่าวอีกว่าสารคาร์โบไฮเดรตที่บูดเน่าเหล่านี้สามารถทำลายฟันได้มากกว่าการเคี้ยวลูกอมแข็งๆที่มีแต่น้ำตาลซึ่งละลายออกมาในน้ำลายขณะเคี้ยว