ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการคุมเข้มเรื่องปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั้น ทางกรมฯได้ใช้มาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 11.00-14.00 น.และ 17.00-24.00 น.ระหว่างวันที่ 12-18 เม.ย. 2555 หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในช่วงสงกรานต์จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราอย่างเข้มงวด หากพบผู้กระทำผิดจะดำเนินการจับ ปรับและขังจริง และขอย้ำว่า ในปั๊มน้ำมัน สถานศึกษา และสถานที่สาธารณะ ห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด ไม่เฉพาะช่วงสงกรานต์เท่านั้น อีกทั้งห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากในปี 2554 พบว่า เกิดผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างชัดเจน โดยพบว่า ร้อยละ 47 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับ
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของโรคที่พึงเฝ้าระวังช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย โดยกรมฯ อยากฝากเตือน 4 โรค ได้แก่
1.จมน้ำ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีสถิติเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 6 ราย ดังนั้น พ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง หรือ น้ำตก โดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล แม้ว่าเด็กจะว่ายน้ำเป็น เพราะช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีอากาศที่ค่อนข้างร้อน เด็กจะแช่น้ำนาน 2-3 ชั่วโมง อาจเป็นตะคริวจนจมน้ำเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ แหล่งท่องเที่ยวที่เปิดให้เด็กเล่นน้ำได้ ควรมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น เสื้อชูชีพ หรือ แกลลอนผูกเชือกไว้กับเสาหลักบนฝั่ง เพื่อให้ง่ายต่อการดึงเด็กเข้าฝั่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น และควรมีคนดูแลทุกจุดที่มีเด็กลงเล่นน้ำ คอยทำหน้าที่ในการช่วยเหลือเด็กหากจมน้ำ ไม่ควรปล่อยให้เด็กช่วยเหลือกันเอง อาจจะเกิดการเสียชีวิตหมู่
2.โรคลมแดด อากาศที่ร้อนมากอาจส่งผลให้ประชาชนป่วยด้วยโรคลมแดด จึงควรดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อย 8 แก้ว เมื่อต้องออกแดด ควรสวมหมวก หรือกางร่ม เป็นการป้องกันไม่ให้สัมผัสแดดโดยตรง และหากพบผู้ป่วยโรคลมแดด ให้ช่วยเหลือด้วยการคลายเสื้อผ้า เช็ดดด้วยน้ำเย็น ภายใน 1 ชั่วโมงอากาศไม่ดีขึ้นให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
3.โรคอาหารเป็นพิษ ช่วงสงกรานต์อาจมีการทำอาหารจำนวนมากเลี้ยงญาติที่กลับไปเยี่ยมบ้าน แต่ควรระวังไม่ให้อาหารบูด ในช่วงอากาศร้อนมากเช่นนี้ อาหารที่ทำทิ้งไว้เกิน 2-3 ชั่วโมงมีโอกาสที่จะบูดได้ เพราะฉะนั้นก่อนการรับประทานอาหาร ควรสังเกตอาหารว่าบูดหรือไม่ และแม้จะมีการบูดเพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรนำมารับประทาน เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดการท้องเสียได้
และโรคที่ 4 ตาแดง อาจเกิดขึ้นได้จากการที่นำน้ำไม่สะอาด หรือน้ำจากคลอง คู บึง มาใช้เล่นสาดน้ำ หากเข้าตาอาจทำให้ตาแดงได้ หรือเข้าปากจะทำให้ท้องเสีย น้ำที่ใช้เล่นสงกรานต์จึงควรเป็นน้ำประปา หรือน้ำจากแหล่งน้ำที่สะอาด ส่วนแป้งที่จะใช้ในการทากันและกัน ก็ควรเป็นแป้งที่มียี่ห้อผู้ผลิตและระบุแหล่งผลิต อย่างน้อยมั่นใจได้ว่าได้มีการผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคแล้ว
ขอบคุณ ที่มา : manageronline