1. การเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น
แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ไม่ชอบการเปรียบเทียบกับผู้อื่น เด็กๆก็เช่นกัน ควรให้กำลังใจและสอนให้เห็นข้อดีและจุดเด่นของลูกมากกว่าที่บอกว่าคนอื่นเก่งกว่า ดีกว่าเพราะอะไร ในบางครั้งเด็กไม่เข้าใจ ทำให้เกิดความท้อแท้และอาจจะไม่อยากสานต่อสิ่งต่างๆได้ดี ให้จำไว้ว่าเด็กทุกๆคนมีความสามารถและถนัดที่แตกต่างกัน หากเรายอมรับลูกของเราได้ คนอื่นๆก็เช่นกัน และลูกจะยอมรับความสามารถที่ตนเองมีที่ทำได้ดีกว่าเพื่อนๆคนอื่น
2. ต่อว่าลูกต่อหน้าคนอื่น
เด็กก็ต้องการให้ผู้ใหญ่ให้เกียรติเช่นกัน หากเราต้องต่อว่าลูกต่อหน้าคนอื่น ให้พูดด้วยเหตุผล หรือหากระงับอารมณ์ไม่ได้จริงๆ ให้จูงลูกไปคุยในที่ปลอดคนหรือในสถานที่ๆคิดว่าลูกจะไม่โดนสายตาวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่น แต่ทางที่ดี การระงับอารมณ์ให้ได้เป็นสิ่งที่พ่อแม่พึงกระทำ เพราะหากสอนลูกด้วยอารมณ์โกรธ เด็กๆจะไม่ได้รับอะไรสักเท่าไร อาจจะคิดว่าเป็นเพียงการบ่นและดุว่าเท่านั้น
3.บอกว่า ไม่รัก แล้ว
ความรักไม่ใช่การต่อรอง ไม่ว่าลูกทำผิดหรือคุณพ่อคุณแม่โกรธขนาดไหน ไม่ควรกล่าวคำว่า "ไม่รักแล้ว" เพราะเด็กๆมักจะเก็บไปคิด และอาจจะฝังใจก็เป็นได้ คำพูดเพียงครั้งเดียวอาจจะส่งผลจนลูกของเราโตขึ้นพอที่จะเข้าใจว่าเป็นการพูดโดยอารมณ์หรือไม่ ให้พยายามสกัดกลั้นคำนี้เอาไว้ และบอกลูกว่า "ถ้าลูกทำแบบนี้อีก จะไม่คุยด้วย 5 หรือ 10 นาที" และเราควรทำเช่นนั้นด้วยค่ะ หากไม่อยากให้ลูกใช้คำว่า "ไม่รัก" กับเรา ก็อย่าใช้คำนี้กับลูกนะคะ
4. การเพิกเฉย ไม่สนใจ
ในบางครั้งการดูแลลูกอาจจะทำให้เราเหนื่อย หรือไม่ได้ทำสิ่งที่เราต้องการ แต่การไม่สนใจเวลาลูกคุยด้วยหรือมีคำถาม หรือต้องการให้เราดูงานศิลปะที่เค้าคิดว่าเจ๋งมาก อยากให้คุณแม่เห็น นั่นทำให้เค้าขาดความมั่นใจ และในที่สุดลูกอาจจะหาวิธีที่เรียกร้องความสนใจจากเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ดี หรือเรื่องที่เราไม่ให้ทำ ฉะนั้นสละเวลาสักนิดค่ะ เพราะเรื่องนี้เป็นการทำร้ายจิตใจเด็กโดยที่เด็กเองก็ไม่เข้าใจและคุณก็ไม่รู้ตัว
5. ข่มขู่ หรือทำให้กลัว
ในสมัยเก่าก่อนอาจจะใช้การขู่ให้เด็กกลัว ไม่ให้ทำผิด เช่น ถ้าทำแบบนี้ตำรวจจะมาจับ เดี๋ยวจะพาไปฉีดยา เดี๋ยวตุ๊กแกจะมากินตับ เชื่อมั้ยคะว่าทำให้เด็กกลัวตำรวจ และทำให้เด็กๆโกหกเรา เพื่อไม่ให้โดนดุ และทำให้เด็กๆฝังใจไม่อยากไปหาหมอ เพราะการหาหมอคือการฉีดยา เด็กๆมักจะไม่มีเหตุผลและเราเองก็ไม่มีเหตุผลที่ดีที่สอนลูกด้วย