ไม่น่าเชื่อว่าในครัวของเราจะมียาดีจากธรรมชาติมากมายกว่าที่เราเคยรู้
อาหารเป็นยา และยาก็อาจเป็นอาหารหรือได้มาจากอาหารก็ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจคาดไม่ถึงว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหารหลายชนิดที่เราเคยคุ้นตาคุ้นลิ้น อีกทั้งยังมีติดครัวไว้อยู่เป็นประจำ จะมีสรรพคุณในการช่วยป้องกันและเยียวยารักษาโรคต่างๆได้เป็นอย่างดี
ชา
ชาเป็นเครื่องดื่มซึ่งทุกครัวเรือนมักจะมีติดบ้านเอาไว้เสมอ และส่วนใหญ่เราก็จะดื่มชากันเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะหลังจากรับประทานอาหารเลี่ยนๆ มันๆ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า สารบางอย่างในชาสามารถช่วยละลายและชะล้างไขมันได้ ยิ่งชาที่ดื่มเป็นชาเขียวก็ยิ่งดีใหญ่ เนื่องจากชาเขียวมีสารแทนนินและคาเตชินสูง ที่สำคัญสารนี้เป็นสารแอนตี้ออกซิแดนต์ที่สามารถช่วยปกป้องเซลล์ต่างๆของร่างกายจากพิษภัยของอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี แถมยังมีส่วนช่วยทำให้เซลล์เสื่อมสภาพช้าลงอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นตามตำราสมุนไพรต่างๆ ยังบอกอีกว่าชาเขียวสามารถช่วยป้องกันการก่อตัวของเซลล์มะเร็งได้ แต่ที่แน่ๆก็คือ การดื่มชาเขียวเป็นประจำจะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น เพราะชาเขียวมีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเลือด
ข้อแนะนำ ควรแช่ใบชาในน้ำร้อนนานอย่างน้อย 10 นาทีก่อนนำมาดื่ม
น้ำมันพืช
น้ำมันหรือไขมันเป็นหนึ่งในอาหารห้าหมู่ซึ่งร่างกายไม่อาจขาดได้ และถึงแม้น้ำมันพืชจะถือเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง แต่น้ำมันจากพืชก็ให้กรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันจากมะกอก จากเมล็ดดอกทานตะวัน หรือจากถั่วเหลือง ซึ่งอุดมด้วยคุณค่าวิตามินอีและสารทดแทนฮอร์โมนที่ร่างกายของคนเราต้องการ ที่สำคัญการเลือกรับประทานน้ำมันจากพืชแทนที่จะรับประทานน้ำมันจากสัตว์ ยังสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้ นอกจากนี้ กรดไขมันไม่อิ่มตัวจากน้ำมันพืช ยังไม่เป็นภาระหนักให้กับระบบการทำงานของตับและถุงน้ำดีในการย่อยสลายไขมันด้วย
ข้อแนะนำ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง คุณควรจะรับประทานน้ำมันพืชดังกล่าววันละ 2 ช้อนโต๊ะ
กระเทียม
อัลลิซิน คือสารสำคัญที่มีอยู่ในกระเทียม ซึ่งมีส่วนช่วยลดการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด และช่วยลดความดันโลหิต ทั้งนี้เนื่องจากสารดังกล่าวจะไปช่วยสลายคอเลสเตอรอลในเลือด และทำให้การเกาะตัวของคอเลสเตอรอลภายในหลอดเลือดไม่อาจเกิดขึ้นได้ โชคดีที่อาหารไทยของเราส่วนใหญ่มักจะมีกระเทียมเป็นเครื่องปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติ อย่างชนิดที่เรียกว่าขาดไม่ได้ อย่างไรก็ดี ปริมาณการรับประทานกระเทียมเพื่อให้เข้าถึงซึ่งสรรพคุณดังกล่าว คุณต้องรับประทานเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 3 กลีบ และรับประทานแบบสดๆ ทั้งนี้เพราะความร้อนจากการประกอบอาหารอาจทำให้สารสำคัญในกระเทียมสูญสลายไป เรียกว่าต้องยอมให้ปากและกลิ่นตัวเป็นกลิ่นกระเทียมกันไปเลย เพื่อแลกกับสุขภาพที่ปลอดจากคอเลสเตอรอล
ใบแปะก๊วย
ในใบของต้นแปะก๊วยหรือจิงโกะมีสารบางชนิดที่สามารถช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงพลังงานในสมอง ซึ่งนักวิชาการพบว่า สามารถช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคความทรงจำในสมองเสื่อมได้ ปัจจุบันโรคนี้ถือเป็นโรคแห่งศตวรรษเลยทีเดียว เนื่องจากช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีอัตราของผู้ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นสูงมาก และเมื่อไม่นานมานี้อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โรแนลด์ เรแกน ก็เพิ่งจะเสียชีวิตไป หลังจากที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคอัลไซเมอร์มาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี มีความก้าวหน้าไปมากในงานวิจัยเรื่องสารสกัดจากใบแปะก๊วย ทุกวันนี้นักวิชาการสามารถสกัดสารสำคัญที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะความทรงจำของสมองจากใบแปะก๊วยได้สำเร็จ แล้วผลิตมาในรูปแบบเม็ดและแคปซูล ช่วยให้สะดวกในการรับประทานและทราบขนาดของสารที่รับเข้าสู่ร่างกายได้ในปริมาณที่แน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการรับประทานสารสกัดดังกล่าวควรจะอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
น้ำผึ้งกับน้ำส้มสายชู
ใครว่าหวานเป็นลม ขมเป็นยา เห็นทีต้องขอค้านไม่เชื่อก็ดูน้ำผึ้งเป็นตัวอย่าง เพราะน้ำผึ้งทั้งหวานหอมอร่อย รับประทานบ่อยๆ ยิ่งแข็งแรงสุขภาพดี แต่อย่าทานทีละเยอะๆ ก็แล้วกัน เพราะระดับน้ำตาลในน้ำผึ้งมีอยู่สูงยิ่งกว่าน้ำตาลทรายเสียอีก แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากในน้ำผึ้งมีเอนไซม์และแร่ธาตุต่างๆ อยู่มากมายหลายชนิด อาทิเช่น เหล็ก สังกะสี เป็นต้น และถ้าหากนำมาผสมรับประทานกับน้ำส้มสายชู (ถ้าได้น้ำส้มสายชูจากแอปเปิ้ลก็จะดียิ่งกว่า) ซึ่งมีโพแทสเซียมสูง ก็จะช่วยบำรุงหัวใจและช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้เป็นอย่างดี เท่านั้นไม่พอ น้ำผึ้งผสมน้ำส้มสายชูดังกล่าวยังช่วยต่อต้านและกำจัดแบคทีเรียที่เป็นพิษในลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย
ข้อแนะนำ ควรชงน้ำผึ้งกับน้ำส้มสายชูดื่มเป็นประจำ โดยผสมน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ กับน้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ ในน้ำหนึ่งแก้ว ดื่มวันละ 2-3 แก้ว เพียง 4-6 สัปดาห์ คุณจะรู้สึกสดชื่น และมีสุขภาพดี
ผักตระกูลกะหล่ำ
ไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำขาว กะหล่ำเขียว กะหล่ำม่วง ดอกกะหล่ำ ปมกะหล่ำ ก็ล้วนอุดมไปด้วยวิตามินซีและบี 2 รวมถึงแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายอีกมากอย่างเช่น โพแทสเซียม แคลเซียม เหล็ก และกากใยไฟเบอร์ที่ดีต่อระบบขับถ่าย
กะหล่ำขาวเป็นผักที่คนเยอรมันนิยมรับประทานมาก โดยเฉพาะเซาเออร์เคราท์ (Sauerkraut) ที่ได้จากการนำกะหล่ำขาวหั่นฝอยหมักไว้จนออกรสเปรี้ยว ซึ่งตามตำราสมุนไพรของชาวเยอรมันบอกว่ามีสรรพคุณช่วยย่อยโปรตีนในลำไส้เล็กได้เป็นอย่างดี เพราะมีแบคทีเรียที่เป็นมิตรชนิดเดียวกับที่มีในนมเปรี้ยว ซึ่งแบคทีเรียดังกล่าวยังเป็นเสมือนเกราะป้องกันที่ช่วยจัดการกับแบคทีเรียและเชื้อโรคที่เป็นพิษต่อร่างกายภายในลำไส้ด้วย ที่สำคัญยังช่วยป้องกันการอักเสบติดเชื้ออันเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งลำไส้
ของดีมีประโยชน์ที่หาได้ง่ายใกล้ตัวแบบนี้เห็นทีต้องทานบ่อยๆ จะได้ครบเครื่องเรื่องคุณค่าทางอาหาร