"เฟซบุ๊ก" เริ่มขายหุ้นให้แก่สาธารณชน หรือทำ "ไอพีโอ" ด้วยตัวเลขไม่น่าประทับใจนัก เพราะนักวิเคราะห์และสถาบันลงทุนเห็นว่าราคาสูงเกินไป มูลค่าของบริษัท ณ ราคาที่ทำไอพีโอเป็นจุดพีก ในขณะที่มองกันว่า โอกาสการสร้างรายได้ของเฟซบุ๊กตามความเป็นจริงยังไม่น่าสูงได้ขนาดนั้น ตรงกันข้ามเมื่อเร็ว ๆ นี้ รายได้ของเฟซบุ๊กยังลดลงด้วยซ้ำ
ฉะนั้นความเคลื่อนไหวที่จะมองเห็นจาก "เฟซบุ๊ก" ก็คือการเปิดช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ ๆ หรืออย่างน้อยก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจว่าจะหาหนทางสร้างได้ เช่นการเปิด "แอปเซ็นเตอร์" ก็เป็นส่วนหนึ่ง แม้เรื่องแอปบนเฟซบุ๊กจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การบริหารจัดการแบบนำมันมารวมศูนย์ไว้ที่เดียวกัน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมการใช้แอปบนเฟซบุ๊กให้ขยายตัว รายได้ที่เกิดจากแอปจะสูงขึ้นตามมา
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวซึ่งยังอยู่ในระหว่างการทดสอบ คือการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเลือกจ่ายเงินเพื่อให้ข้อความที่โพสต์สามารถเห็นได้มากขึ้น
ระบบการไฮไลต์ข้อความที่โพสต์นี้มีผู้ใช้ในนิวซีแลนด์ค้นพบ และตอนแรกคิดว่าเป็นพวกสแปม แต่ปรากฏว่า เมื่อสื่อสอบถามไปยังเฟซบุ๊กได้รับคำตอบยืนยันว่า สิ่งที่ผู้ใช้งานพบนั้นเป็นของจริงที่กำลังทดสอบอยู่ เพื่อดูว่าผู้ใช้งานจะตอบรับการจ่ายเงินเพื่อไฮไลต์ข้อความที่โพสต์หรือไม่ ค่า post to promotion นี้คิดราคาสูงสุดไว้ข้อความละ 2 เหรียญสหรัฐ และมีระดับราคารองลงมาอีกสองระดับ การชำระเงินโดยผ่านบัตรเครดิตหรือเพย์พาล
ไม่มีรายละเอียดว่าการทดสอบนี้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และจะมีการไปทดสอบที่อื่น ๆ อีกหรือไม่ เมื่อลองพิจารณาดู การจ่ายเงินเพื่อให้ข้อความที่โพสต์มีการขับขึ้นมาให้เด่นเห็นชัดมากขึ้นนี้ สำหรับผู้ใช้งานโดยทั่ว ๆ ไป อาจไม่มีความจำเป็นใด ๆ แต่กลุ่มที่อาจจะยอมเสียเงินน่าจะเป็นพวกที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นสถานที่ทำมาหากิน นั่นคือผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น ซึ่งปัจจุบันใช้เฟซบุ๊กเปิดเพจเป็นช่องทางการขายสินค้ากันอย่างกว้างขวาง และประสบความสำเร็จมากกว่าพวกผู้ประกอบการรายใหญ่
นอกจากการเลือกใช้ระบบการโฆษณาที่ให้บริการอยู่ วิธี post to promotion ที่ทดสอบกันอยู่ก็ดูไม่เลวทีเดียว เพื่อให้ข้อความที่โพสต์และต้องเน้นไม่ถูกกลืนหายไปเพราะข้อความอื่น ๆ เบียด โดยที่ค่าใช้จ่ายตามราคาที่ว่าไม่ได้สูงมากนัก เราคงจะเห็นความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กตามมาอีกเยอะ
ขอบคุณ ที่มา : คอลัมน์ IT.Talentz ประชาชาติธุรกิจ