วัยเด็กเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโตมีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งใหม่ ๆ ร่างกายจึงต้องมีความต้องการพลังงาน และโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อนำไปใช้สำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นการรับประทานอาหารเพียง 3 มื้อหลักอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากเด็กวัยเรียนมีความต้องการพลังงานวันละ 1,600 กิโลแคลอรี ขนม และของว่างที่มีโภชนาการที่เหมาะสม เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมพลังงานให้เพียงพอสำหรับเด็ก
แต่ข้อมูลจากการสำรวจการรับประทานอาหารว่างของเด็กในปัจจุบันพบว่า เด็กเล็กอายุระหว่าง 3-5 ปี ได้รับพลังงานจากอาหารว่างและขนมมากกว่าที่ควรได้รับ ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์จากมื้อหลักลดลง นอกจากนี้แล้ว ขนมและของว่างที่เด็กไทยนิยมรับประทาน มีส่วนประกอบของแป้ง ไขมัน และน้ำตาลปริมาณมาก เช่น ขนมถุง ขนมซอง น้ำอัดลม ส่งผลให้เด็กมีปัญหาโภชนาการเกินและเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ความน่าเป็นห่วงในข้างต้น เภสัชกรทวีทรัพย์ เหลืองนทีเทพ นักโภชนาการจากเนสท์เล่ กล่าวในงานเสวนา "เลือกขนมของว่างให้ลูกรักอย่างไร ให้ถูกใจและได้ประโยชน์" เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อย หรือตามใจลูกในการรับประทานขนม และของว่างมากเกินไป โดยเฉพาะขนมหรือของว่างที่มีรสหวาน อาจทำให้เด็กติดหวาน และทำให้เกิดโรคอ้วน รวมไปถึงเบาหวานชนิดที่ 2 ตามมาได้ ทางที่ดี ควรสร้างวินัยการรับประทานขนม และของว่างภายในบ้าน ไม่กินจุบจิบตลอดเวลา
"พ่อแม่ควรใส่ใจในการเลือกขนมและของว่างที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ใช้สีที่มาจากธรรมชาติ ไม่หวาน และเค็มเกินไป ควรมีการควบคุม และวินัยการกินที่ชัดเจน ไม่ควรให้ขนม ของหวานแทนอาหารมื้อหลัก เพราะสิ่งที่นำมาทดแทนนั้นกินง่ายกว่า จึงทำให้ลูกไม่กินข้าว และที่สำคัญ การให้ขนม และของว่างต้องไม่มากจนทำให้เด็กน้ำหนักเกินหรืออิ่มจนไม่อยากกินอาหารมื้อหลักด้วย" นักโภชนาการฝาก
นอกจากนั้น ยังมีข้อแนะนำดี ๆ จากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติในการเลือกขนม และอาหารว่างแก่เด็ก 2 ขวบขึ้นไปมาฝากเป็นแนวทางสำหรับคุณพ่อคุณแม่กันด้วย เริ่มจาก
1. เด็กควรได้รับอาหารมื้อหลักวันละ 3 มื้อ นมวันละ 2-3 แก้ว (ควรเลือกนมจืดสำหรับเด็กทั่วไป และนมจืดพร่องมันเนย สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ไม่แนะนำให้บริโภคนมหวาน หรือนมปรุงแต่ง) และอาหารว่าง
2. อาหารว่างเป็นอาหารที่บริโภคระหว่างมื้อหลัก ควรบริโภคอาหารว่างไม่เกินวันละ 2 มื้อ แต่ละมื้อให้พลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน นั่นคือ สำหรับเด็กเล็ก (อายุ 2-5 ขวบ) ไม่เกินมื้อละ 100-130 กิโลแคลอรี เด็กวัยเรียน (อายุ 6-12 ขวบ) ไม่เกินมื้อละ 150 กิโลแคลอรี เด็กวัยรุ่น (อายุ 13-15 ปี) ไม่เกินมื้อละ 200 กิโลแคลอรี หรือโดยเฉลี่ยมื้อละ 100-150 กิโลแคลอรี สำหรับเด็กอายุ 2-15 ปี
3. อาหารว่างที่ดีควรจำกัดปริมาณน้ำมัน น้ำตาล และเกลือไม่ให้สูงเกินไป
4. ควรรับประทานอาหารว่างห่างจากมื้อหลักอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
5. ไม่ควรใช้อาหารหรือขนมเป็นเงื่อนไขของการให้รางวัลหรือการลงโทษ
6. อาหารว่างที่ควรมีประจำบ้าน ได้แก่ นมจืด ผลไม้สด ผลไม้อบแห้งที่ไม่เติมน้ำตาล ขนมปังกรอบชนิดโฮลวีท
7. ไม่ตุนของว่างที่มีไขมันและน้ำตาลสูงไว้ในบ้าน ได้แก่ น้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมกรุบกรอบ ช็อคโกแลต ลูกอม คุกกี้
8. อาหารว่างควรมีหลายประเภท ในแต่ละประเภทควรมีความหลากหลาย และมีคุณค่าสารอาหารที่แตกต่างกัน ดังนี้
ผลไม้สด
เป็นอาหารว่างที่มีประโยชน์ มีแร่ธาตุ ใยอาหาร และวิตามินสูง ผลไม้ที่เหมาะสมสำหรับเป็นอาหารว่าง ได้แก่ กล้วย ส้ม มะละกอ ฝรั่ง ชมพู่ เป็นต้น (ตัวอย่างของผลไม้ 1 ส่วนบริโภค : กล้วยน้ำว้า 1 ผล ส้ม 1 ผล ผลไม้ตัดเป็นชิ้น 1 จานเล็ก หรือ 6-8 คำ) หลีกเลี่ยงการบริโภคผลไม้ที่มีรสหวานจัดบ่อย เช่น ทุเรียน ลำไย ขนุน เป็นต้น หรือให้เป็นผลไม้อบแห้งที่ไม่เติมน้ำตาลไม่เกิน 6-8 คำ เช่น กล้วยตาก (ชนิดไม่ชุบน้ำผึ้ง) เป็นต้น
เครื่องดื่ม
สิ่งที่เด็กต้องการคือ น้ำอย่างน้อยวัยละ 6-8 แก้ว โดยเด็กได้รับน้ำเปล่าจากอาหาร เช่น น้ำแกงจืด นม และเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่เหมาะสำหรับเด็ก ไม่ควรมีน้ำตาลเกินร้อยละ 5 ยกตัวอย่างเช่น นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม มีนมเป็นส่วนประกอบเพียงครึ่งเดียว และมีน้ำตาลสูงเทียบเท่าน้ำอัดลม ควรให้นาน ๆ ครั้ง หรือไม่ควรบริโภคเลยในเด็กที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน
น้ำผลไม้ น้ำผลไม้สดบางชนิดไม่เติมน้ำตาล เช่น น้ำส้ม น้ำฝรั่ง เป็นแหล่งอาหารที่ดีของวิตามินซี หากล้างผลไม้ให้สะอาด และคั้นให้เด็กดื่มทันที แต่น้ำผลไม้สำเร็จรูป หรือน้ำผลไม้ที่ขายตามร้านทั่วไปมักเติมน้ำตาล และบางชนิดมีน้ำตาลสูง จึงควรเลือกชนิดที่มีน้ำผลไม้แท้เป็นส่วนผสมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และเติมน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 5 โดยดื่มวันละไม่เกิน 1 แก้วหรือไม่เกิน 1 กล่องเล็กต่อวัน แต่ควรให้เป็นผลไม้สดจะดีกว่า
ส่วน น้ำอัดลม ไม่แนะนำให้บริโภค เนื่องจากมีน้ำตาลสูง และมีกรดฟอสฟอริกซึ่งอาจจะทำให้เกิดเนื้อฟันกร่อน หรือกระดูกกร่อนได้
9. ของว่างจำพวกเบเกอรี่ ควรเลือกขนมปังกรอบชนิดที่มีใยอาหารสูงคือ ชนิดที่ทำมาจากโฮลวีท หลีกเลี่ยงขนมที่มีไขมันสูงและรสหวานจัด เช่น คุกกี้ พัฟ พาย เค้กหน้าครีม
10. ขนมซองหรือขนมถุง หลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบที่มีแป้งหรือไขมันสูง เช่น มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ ถ้าจะบริโภคให้เลือกชนิดที่มีโปรตีนสูงแทน เช่น ปลาเส้น เมล็ดพืชอบ เช่น ถั่วอบกรอบ เมล็ดทานตะวันอบ เป็นต้น
11. ถั่ว พืชหัว และธัญพืช ให้ถั่วต้ม หรือถั่วอบแทนถั่วทอด มันเผือกต้มแทนมันเชื่อม ฉาบข้าวโพดต้มแทนข้าวโพดคั่วอบเนย เป็นต้น
12. ลูกกวาด ลูกอม ช็อคโกแลต นมอัดเม็ด เป็นขนมที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง เนื่องจากมีน้ำตาลสูงเสี่ยงต่อฟันผุ และภาวะโภชนาการเกิน
13. ไอศกรีม ควรให้นาน ๆ ครั้ง ให้เลือกไอศกรีมที่มีไขมันต่ำ เช่น ไอศกรีมหวานเย็น (ที่ไม่แต่งสีจัด) ไอศกรีมเชอร์เบท โยเกิร์ตแข็ง เป็นต้น
14.ขนมหวานของไทย ขนมไทยหลายอย่างมีประโยชน์เนื่องจากมักนำธัญพืช ถั่ว ผัก ผลไม้มาเป็นส่วนประกอบ การบริโภคให้เลือกชนิดที่มีน้ำมันน้อย หรือกะทิ/มะพร้าวน้อย และไม่หวานจัด เช่น ถั่วแปบ ข้าวต้มมัด ขนมตาล ขนมกล้วย เม็ดขนุน ถั่วเขียวต้ม เต้าส่วน เป็นต้น หลีกเลี่ยงขนมหวานไทยบางชนิดที่มีกะทิ หรือน้ำตาลเข้มข้น เช่น ตะโก้ ขนมหม้อแกง ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด มันเชื่อม กล้วยเชื่อม เป็นต้น
15. ของว่างประเภททอด ปิ้ง ย่าง ให้หลีกเลี่ยงชนิดที่ไหม้เกรียม ไม่แนะนำอาหารว่างประเภททอด
16. ของว่างอื่น ๆ ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และมีอาหารหลายหมวดอยู่ปนกัน เช่น ขนมจีบ ซาลาเปา แซนวิชไส้ทูน่า ขนมปังไส้หมูหยอง เป็นต้น
นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ครอบครัวยุคใหม่ไม่ควรมองข้าม ลองนำไปใช้ในครอบครัวคุณกันดูนะคะ
ขอบคุณ ที่มา : life&family manageronline