คีย์หลักสัมภาษณ์งานผ่านฉลุย




บุคลิกภาพ ตลอดจนทัศนคติ และความรู้ความสามารถที่แสดงออกมานั้น “ล้วนส่งสารบางอย่างไปยังผู้สัมภาษณ์งาน” ซึ่งจะสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด อยู่ที่ผู้สมัครเตรียมความพร้อมมาอย่างดี เพราะช่วยให้คุณมีชัยไปแล้วกว่าครึ่ง

อาจารย์ศรันยา สารากรบริรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตรียมความพร้อมเพื่อการทำงาน (Career Prep.) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แนะนำว่า นิสิต-นักศึกษาควรเตรียมความพร้อมตั้งแต่ช่วงที่กำลังเรียน โดยดูแลผลการเรียนให้อยู่ในเกณฑ์ดี ควบคู่กับการแบ่งเวลาร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ หรือ ทางมหาวิทยาลัย มีการจัดทำพอร์ตโฟลิโออย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

“ศึกษาลักษณะคาแรกเตอร์ของตัวเองว่าเหมาะกับการทำงานแบบไหน หางานตรงกับนิสัย หรือ วุฒิการศึกษาที่จบ เช่น คณะนิเทศศาสตร์ อาจจะเป็นงานที่แสดงออกในเรื่องของการติดต่อ ประสานงาน เป็นต้น เมื่อคิดว่าองค์กรนั้น ๆ น่าจะตอบรับสิ่งที่ต้องการได้ ก็ต้องศึกษาข้อมูลก่อนที่จะไปสัมภาษณ์งานว่าองค์กรนั้นมีซีอีโอเป็นใคร เป็นองค์กรที่ทำงานด้านไหน มีลักษณะเด่น หรือ วัฒนธรรมองค์กรที่พอมองเห็นได้จากอะไร มีซีเอสอาร์ หรือ การทำเพื่อสังคมอะไรบ้าง มีการทำงานในด้านอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวเราที่สามารถเข้าไปเป็นส่วนร่วมได้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่แนะนำนิสิต-นักศึกษา คือ การคลิกเข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ขององค์กรนั้น ๆ

ก่อนถึงวันสัมภาษณ์งาน ควรตรวจดูเส้นทางว่าสถานที่สัมภาษณ์งานเป็นพื้นที่รถติดหรือไม่ มีวิธีเดินทางอย่างไรบ้าง โดยควรไปถึงอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อจะได้สบายใจ ไม่เร่งรีบเกินไป ที่สำคัญไม่แนะนำให้นัดสัมภาษณ์งานหลายแห่งในวันเดียวกัน เพราะมีโอกาสพลาดได้ทั้งหมด เมื่อถึงสถานที่สัมภาษณ์งาน ควรเข้าห้องน้ำ ตรวจดูความพร้อมของเสื้อผ้าหน้าผม ทำใจให้สบายลดความตื่นเต้น และประหม่า

ระหว่างสัมภาษณ์งาน หากรู้สึกว่าบางคำถามไม่ชัดเจน ควรกล่าว “ขอความกรุณารบกวนคำถามอีกครั้งหนึ่งได้ไหมครับ/ค่ะ” นอกจากนั้น บุคลิกท่าทางที่อยู่ในห้องสัมภาษณ์งานเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการสวัสดี การขออนุญาตก่อนนั่ง การนั่ง การยิ้มแย้ม การใช้สายตา หรือ อายส์คอนแทคส์ที่บ่งบอกถึงความมั่นใจในตัวเองซึ่งไม่มาก และไม่น้อยเกินไป รวมทั้งการกล่าวคำอำลาต่อผู้สัมภาษณ์งาน

หลังจบการสัมภาษณ์งาน อาจมีจดหมายขอบคุณองค์กรนั้น ๆ สำหรับการเรียกสัมภาษณ์งาน นอกจากนั้น อาจพัฒนาศักยภาพของตัวเองด้วยการเรียนคอร์สเพิ่ม เช่น ศึกษาภาษาอังกฤษ หรือ วิชาชีพเสริม อย่าง การทำเบเกอรี่ หรือ ถ่ายภาพ ฯลฯ ซึ่งบางครั้งสิ่งที่เรียนเสริมกลับกลายเป็นงานอีกชิ้นหนึ่งที่นิสิต-นักศึกษาสามารถประกอบกิจการเป็นเจ้านายตัวเองได้ด้วย”

อย่ามองข้ามการเตรียมตัวที่ดี เพราะมีส่วนสำคัญช่วยให้คุณได้งาน

ขอบคุณ ทีมา : เดลินิวส์ออนไลน์

 





แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement