หลังคลอดใหม่ๆ ร่างกายของคุณแม่ยังไม่กลับคืนสู่ภาวะปกตินักหรอกค่ะ จนกว่าจะพ้น 6 อาทิตย์ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหรือความรู้สึกด้านอารมณ์ ดังนั้นแม้ว่าคุณจะเห่อลูกเมื่อแรกอุ้มอย่างไร คุณก็ต้องไม่ลืมดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพกายของตัวเองด้วย
ร่างกายหลังคลอด
แม้ว่าการคลอดจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่การเจ็บปวดหลังคลอดยังคงมีอยู่ค่ะ อย่างน้อยก็ 1 เดือนหลังคลอด เพราะไม่ว่าคุณจะผ่าตัดหรือคลอดเอง คุณก็ยังรู้สึกปวด เมื่อมดลูกหดตัว ปวดแผลที่เย็บซ่อมหลังคลอด (จะยิ่งเจ็บมากขึ้นเมื่อไอหรือเคลื่อนไหว) คัดเต้านม ถ่ายปัสสาวะไม่สะดวก (โดยเฉพาะวันแรก) เหงื่อออกมาก (โดยเฉพาะ 2 วันแรก) ท้องผูก เหนื่อยล้า อ่อนเพลียและมีน้ำคาวปลา ซึ่งระยะแรกน้ำคาวปลาที่ออกมาจะมีสีแดงค่อนข้างมาก แต่จะค่อยๆจางลงเป็นสีชมพูอ่อน และจะแห้งไปภายใน 2-3 อาทิตย์ (บางคนอาจหมดไปเมื่อถึงอาทิตย์ที่ 6)
อาการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติค่ะ คุณสามารถขอคำแนะนำในการพยาบาลตัวเองได้จากคุณหมอหรือคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน และปกติคุณหมอก็จะนัดให้คุณมาตรวจสุขภาพหลังคลอดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณรู้สึกผิดสังเกตเกี่ยวกับร่างกายคุณเอง คุณจะต้องรีบหาหมอทันที่ถ้าพบอาการดังต่อไปนี้ค่ะ
มีเลือดออกมากกว่าที่จะเป็น (เช่น ชุ่มผ้าอนามัย 1 ผืนใน 1ชั่วโมง) หรือมีก้อนเลือดขนาดใหญ่ออกทางช่องคลอด
น้ำคาวปลามีสีแดงเข้มนานเกิน 4 วันหลังคลอด มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ (ปกติกลิ่นจะเหมือนวันมีประจำเดือน) หรือน้ำคาวปลาไม่ไหลโดยเฉพาะช่วง 2 อาทิตย์แรกหลังคลอด
มีไข้สูงเกิน 38 องศา เกิน 24 ชั่วโมง
มีอาการบวมแดงของแผลผ่าตัด เป็นหนอง
ปัสสาวะแสบขัด มีสีเข้มจัด
อารมณ์ที่แปรปรวน
เรื่องอารมณ์ คุณแม่บางคนคาดหวังไว้มาก พอคลอดออกมาแล้วเพศลูกไม่เป็นไปตามที่ต้องการ หน้าตาไม่เป็นอย่างที่หวัง ก็เกิดความรู้สึกผิดหวัง ยิ่งกับคุณแม่บางคนที่ปกติเป็นคนคิดมาก มีความรับผิดชอบสูงอยู่แล้ว อาจจะรู้สึกว่าตัวเองจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดี กังวลถึงอนาคตของลูก คนที่รักสวยรักงามหน่อยก็อาจกังวลเรื่องน้ำหนักและรูปร่างของตัวเอง สิ่งต่างๆเหล่านี้จะทำให้คุณแม่เกิดความตึงเครียด มีภาวะซึมเศร้าได้ เช่น เศร้าโศก ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล หรืออารมณ์ปรวนแปรได้ง่ายจนสามีตั้งรับไม่ทัน
อย่าเพิ่งวิตกไปค่ะ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของภาวะจิตใจ อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ในช่วง 2 - 3 อาทิตย์แรก เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วสักพักจะหายไปเอง แต่หากผ่านไปหลายอาทิตย์แล้วและมีท่าทีจะกินเวลานานกว่า 3 อาทิตย์ เห็นทีต้องพึ่งคำปรึกษาของคุณหมอแล้วนะคะ อย่างไรก็ตามคำแนะนำต่อไปนี้ จะช่วยลดความกังวลได้ระดับหนึ่ง
อย่าปล่อยให้ตัวเองเครียดเกินไป คืออย่ามัวแต่เก็บตัวอยู่แต่บ้าน ตกเย็นลองอุ้มลูกไปทักทายเพื่อนบ้าน เดินเล่นอวดลูกกับคนร่วมซอย จะช่วยผ่อนคลายและหายตึงเครียดได้
หาเวลาพักจากการเลี้ยงลูกมาจู๋จี๋จิ๊จ๊ะกับสามีสองต่อสอง พูดคุยกันถึงอนาคต หรือเปิดใจถึงความรู้สึกภายหลังการมีลูกกันบ้าง