ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ได้มีข่าวที่อดีตสามีของครูที่จังหวัดนครปฐม ได้ใช้น้ำมันราดไปตามร่างกายครูแล้วจุดไฟเผา จนทำให้เกิดไฟไหม้เกรียมตามใบหน้าและผิวหนังกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของร่างกาย ต่อหน้าลูกทั้ง 2 คน สาเหตุมาจากความโกรธแค้นที่ครูปฏิเสธที่จะกลับไปอยู่ด้วย หลังจากที่ตนเองพยายามขอคืนดีหลายครั้ง จึงใช้วิธีโทรศัพท์ไปบอกครูว่าตนเองป่วยหนัก ขอให้ช่วยซื้อยามาให้ ด้วยความสงสารครูจึงหลงเชื่อออกไปพบอดีตสามีพร้อมกับลูกชาย 2 คน จนถูกทำร้ายอาการสาหัส ผิวหนังในร่างกายไหม้ไปถึงกว่า 50% และได้รับเป็นคนไข้ในพระราชูปถัมภ์ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในส่วนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วงแรกเป็นคดีครอบครัวทั่วไป กลายเป็นว่าเป็นเรื่องสามีภริยาทะเลาะวิวาทกัน นอกจากนี้พนักงานสอบสวนยังอนุญาตให้อดีตสามีซึ่งเป็นผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวออกไปในเวลาไม่นานอีกด้วย จนต่อมาคดีนี้อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชน ตำรวจจึงเปลี่ยนข้อหาเป็นพยายามฆ่า
ภาพมิได้มาจากเนื้อหาข่าวแต่อย่างใด
กรณีที่เกิดขึ้นในบ้านเราดังกล่าว ทำให้นึกเหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกันที่เกิดขึ้นในประเทศอิหร่าน เป็นกรณีของนายมายิด มูวาฮีดี ที่ทำร้ายนางสาวอามีนะห์ บาห์รามี อดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนเดียวกันในมหาวิทยาลัยเตหะราน ประเทศอิหร่าน จากการที่ฝ่ายชายถูกปฏิเสธการขอแต่งงานจากฝ่ายหญิงที่ตนเองชอบ ทำให้เกิดความโกรธแค้น จึงใช้น้ำกรดสาดไปที่บริเวณใบหน้าของหญิงเคราะห์ร้ายคนดังกล่าว หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวนายมายิดคนสาดน้ำกรดได้ และนำตัวขึ้นศาล คดีดังกล่าวได้รับความสนใจและถูกจับตาเป็นอย่างมากโดยเฉพาะจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของชาติตะวันตกที่คอยติดตามว่าศาลตลอดจนรัฐบาลอิหร่านจะจัดการกับกรณีนี้อย่างไร ก่อนศาลมีคำพิพากษานายมายิดได้ขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ดวงตาของบาห์รามีทั้ง 2 ข้าง ๆ ละ 250,000 เหรียญ แต่ในที่สุดนายมายิดก็ไม่สามารถหาเงินมาชดใช้ตามจำนวนดังกล่าวได้ ศาลในกรุงเตหะรานจึงได้พิพากษาให้ลงโทษนายมายิดด้วยโทษขั้นสูงสุดของกฎหมายอิสลาม โดยการให้หยอดน้ำกรดใส่ตาทั้ง 2 ข้างของมายิด เช่นเดียวกับพฤติการณ์ที่เขาได้กระทำต่อบาห์รามี และให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการบาดเจ็บที่ใบหน้า มือ และร่างกาย แต่อย่างไรก็ตามขณะที่นายมายิดกำลังรอรับโทษทัณฑ์และร่ำให้เมื่อกำลังจะเสียดวงตาทั้ง 2 ข้าง บาห์รามีได้ตัดสินใจในนาทีสุดท้ายยกโทษให้มือสาดน้ำกรดไม่ต้องถูกลงโทษด้วยการทำให้ตาบอดเหมือนเธอตามกฎหมายอิสลาม บาห์รามีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิสนา (ISNA) ของอิหร่านว่า เธอให้อภัยโดยให้เหตุผลว่า พระคัมภีร์อัลกุรอานบัญญัติไว้ว่า การให้อภัยยิ่งใหญ่กว่าการแก้แค้น อาจกล่าวได้ว่าในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีเพียงอิหร่าน และซาอุดีอาระเบียเท่านั้นที่ยังคงใช้หลักกฎหมายและการลงโทษแบบ ตาต่อตาฟันต่อฟัน ซึ่งเป็นการลงโทษจำเลยเช่นเดียวกับที่จำเลยได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น
กรณีความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดในอิหร่าน เมื่อหันมามองสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตามที่กล่าวไว้ตอนต้นทำให้เห็นว่า แม้ทั่วโลกจะรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและมีองค์กรระดับโลกอย่างสหประชาชาติให้ความสนใจต่อปัญหานี้ แต่ความรุนแรงต่อผู้หญิงยังคงมีอยู่ทั่วไป และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแม้แต่ในประเทศที่ใช้การลงโทษตามหลักศาสนา ซึ่งเป็นวิธีการลงโทษสมัยโบราณที่ดูน่ากลัว ยังเกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าวขึ้นได้ โดยเฉพาะในประเทศไทยทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอย่างเช่นตำรวจยังคงมองกรณีที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องในครอบครัว จึงไม่อยากเข้าไปยุ่ง ทั้งที่ในบางกรณีพฤติการณ์ของการกระทำถือเป็นการพยายามฆ่าอย่างเห็นได้ชัด
แม้ในปัจจุบันจะมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาแล้ว 5 ปี แม้กฎหมายฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้เหยื่อหรือผู้ถูกทำร้ายอย่างเช่น ครูที่จังหวัดนครปฐม สามารถรับความช่วยเหลือจากกองทุนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับนี้ได้ แต่ยังมีข้อจำกัดของกฎหมายที่ทำให้การดำเนินคดีต่อผู้ที่ทำผิดมีอุปสรรค เช่น การกำหนดให้ความผิดจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอันยอมความได้ ทำให้ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีต่อศาลภายในเวลา 3 เดือน ไม่เช่นนั้นจะขาดอายุความ ซึ่งในความเป็นจริงจะพบว่าผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมักใช้เวลานานกว่าจะตัดสินใจเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ส่วนใหญ่มักได้รับการบอกให้ตนเองเป็นฝ่ายอดทนหรือเห็นแก่ลูก ทำให้ผู้เสียหายหลายรายถูกกระทำด้วยความรุนแรงซ้ำซากเป็นเวลานับปีหรือสิบปี จึงค่อยเล่าเหตุการณ์ที่ตนประสบให้เพื่อนบ้านหรือผู้ที่ไว้ใจได้ฟัง
ดังนั้น การรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากการถือว่าการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลอื่นแม้จะเป็นสามีภรรยาหรือคนในครอบครัวของตัวเอง เป็นความผิดทางอาญาที่ต้องรับโทษแล้ว การมีมาตรการรองรับในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การรับเรื่องร้องเรียน เพื่อที่จะมีหน่วยงานมารับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเนิ่นนานหรือยอมตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอยู่บ่อยครั้งจะกลายเป็นความชาชิน ทำให้พยานหลักฐานค่อย ๆ สูญหายไปจนไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำได้ นอกจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนแล้ว การมีหน่วยงานในลักษณะช่วยเหลือเยียวยาทั้งในทางร่างกายและจิตใจแก่เหยื่อของความรุนแรง ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะทางด้านจิตใจของฝ่ายหญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง นอกจากมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้าดังกล่าวแล้ว หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาก็ควรรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่สังคมกับปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้น อีกทั้งชี้ให้เห็นถึงโทษหรือผลร้ายที่จะได้รับจากการใช้ความรุนแรงต่อเพศตรงข้ามอีกด้วย ทั้งที่ปัจจุบันประชากรหญิงจะมีจำนวนมากกว่าประชากรชาย และมีบทบาทสำคัญแก่ประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นทั้งบทบาททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
บทความโดย คุณรุจิระ บุนนาค : เดลินิวส์ออนไลน์