เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว อาจารย์หยกฟ้า อิศรานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในทางจิตวิทยามีแนวคิดหนึ่ง เรียกว่า รูปแบบความผูกพัน (Attachment Style) ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่เป็นทารก โดยเป็นรูปแบบความผูกพันที่เด็กทารกพยายามสร้างให้เกิดขึ้นกับผู้ที่เลี้ยงดู หรือ แคร์กิฟเวอร์ (Caregiver) ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคุณแม่
ถ้าแม่เลี้ยงดูลูกแบบทะนุถนอมอย่างดี ให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ลูกก็จะมีรูปแบบความผูกพันที่มั่นคง เมื่อโตขึ้นรูปแบบความสัมพันธ์จะเป็นลักษณะไว้เนื้อเชื่อใจคู่ของตัวเอง ไม่หวาดระแวง และกล้าที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคม อยากที่จะเป็นผู้ให้เหมือนอย่างที่เคยได้รับจากแม่ในวัยเด็ก
สำหรับ รูปแบบความผูกพันตอนเด็ก ๆ แบบหลีกเลี่ยง (Avoidance) เป็นลักษณะที่แม่ไม่เลี้ยง หรือ ไม่ใส่ใจ เด็กจะรู้สึกว่าถึงแม้จะไม่มีใครมาดูแลก็อยู่ด้วยตัวเองได้ โตขึ้นรูปแบบความสัมพันธ์มีแนวโน้มเป็นลักษณะไม่ค่อยทุ่มเทให้ความรัก ไม่อยากผูกมัดกับใคร เพราะรู้สึกว่าตั้งแต่เด็กก็ดูแลตัวเองได้มาตลอด ไม่แคร์ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อต้านมาตั้งแต่เด็ก และสืบเนื่องมาจนถึงตอนโต
ส่วน รูปแบบความผูกพันตอนเด็ก ๆ แบบกึ่ง ๆ กลาง ๆ เป็นลักษณะที่บางครั้งแม่ก็เลี้ยงดูดี บางทีก็ไม่ใส่ใจ เดาทางไม่ถูก เช่น แม่เดินออกไปข้างนอกโดยไม่บอกกล่าว เด็กก็ร้องหา เมื่อแม่กลับมาก็จะเกิดความรู้สึกโหยหา และกลัวว่าจะหนีหายไปอีก โตขึ้นรูปแบบความสัมพันธ์มีแนวโน้มเป็นลักษณะกลัวแฟนไปมีคนอื่น หึงมาก ไม่อยากให้ไปไหน ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าคู่รักที่หึงหวงมากนั้น ตอนเด็ก ๆ เรื่องของรูปแบบการเลี้ยงดูมีความไม่มั่นคงหรือเปล่า จึงทำให้รู้สึกหวาดระแวง
อย่างไรก็ตาม รูปแบบความผูกพันเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถอธิบายพฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคคล ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การกลัวความรัก แต่หากคู่เป็นคนมีความมั่นคง ทำให้รู้สึกว่าพึ่งพา ไว้ใจได้ ก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนเจตคติ และทัศนคติไปเอง
ขอบคุณ ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์