ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สำหรับย้อมสีผมจำหน่ายหลายประเภท ผู้ใช้ควรได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อควรระวัง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมประเภทต่างๆ
ประเภทของผลิตภัณฑ์ย้อมผม
1. เกลือโลหะย้อมผม(Metallic hair dyes) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Hair restorers มีสารออกฤทธิ์สำคัญคือ ตะกั่วอะซิเตด(มีบางผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซิลเวอร์ไนเตรต)
วิธีใช้ ต้องทาผลิตภัณฑ์ทุกวันจนได้สีตามต้องการ สีจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆและต่อเนื่อง เช่น ผมเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง น้ำตาล และดำ ทั้งนี้ขึ้นกับความเข้มข้นของตะกั่วอะซิเตด จำนวนครั้งที่ทาและระยะเวลา สีที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการสะสมเกลือโลหะบนส่วนนอกของเส้นผมและทำปฏิกิริยากับแสงแดดและอากาศ ทำให้เกิดออกไซด์หรือซัลไฟด์ของโลหะซึ่งไม่ละลายน้ำ สีที่เคลือบเส้นผมมักจะติดขอบหมวก หมอน ที่นอน การทาซ้ำๆที่เส้นผมที่งอกใหม่บ่อยๆ จะมองไม่เห็นความแตกต่างของสีที่เกิด ทั้งบริเวณใกล้หนังศีรษะและตลอดเส้นผม เพราะสีค่อยๆเกิดความเป็นพิษ
เกลือโลหะที่ย้อมผมไม่เป็นอันตรายโดยตรงต่อผิวหนัง แต่เมื่อใช้ไปนานๆจะมีการสะสมของของโลหะในร่างกาย ทำให้เกิดพิษได้ ดังนั้นต้องระมัดระวังในการใช้
2. สมุนไพรย้อมผม (Vegetable hair dyes) เฮนนา เป็นพืชที่ใช้ย้อมผมตั้งแต่สมัยโบราณ ประกอบด้วยผงของใบและกิ่งแห้ง ซึ่งเก็บจากต้นก่อนที่จะออกดอก เนื่องจากมี 2-ไฮดรอกซี-1, 4-แนพธาควิโนน(2-hydroxy-1,4-naphthaquinone) หรือที่เรียกว่า ลอร์โซน(Lowsone) ซึ่งละลายในน้ำร้อน
วิธีใช้ นำผงเฮนนาผสมน้ำเล็กน้อยลักษณะคล้ายแป้งเปียกและทำให้เป็นกรด พอกบนเส้นผมที่เปียก ห่อเส้นผมไว้ด้วยผ้าเช็ดตัวและทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที หลังจากนั้นสระด้วยแชมพู ปล่อยให้แห้ง โดยระยะเวลาที่ใช้ขึ้นกับสีที่ต้องการ ความหยาบละเอียดของเส้นผม และการออกฤทธิ์ของเฮนนา ความเป็นกรดของสารพอก และอุณหภูมิขณะห่อเส้นผม สีเคลือบจะติดเส้นผมโดยมีผลต่อชั้นนอก(Cuticle) ของเส้นผม ได้สีแดงเรื่อปนน้ำตาล การย้อมซ้ำๆทำให้ได้ผลลดลง และทำให้ผมด้าน เฮนนาอาจย้อมติดปลายนิ้ว หรือ เล็บ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง การย้อมด้วยผงเฮนนามีความยุ่งยากในการใช้
เฮนนาไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองและอาการแพ้ ไม่มีความเป็นพิษที่ผิวหนังและระบบภายในร่างกาย เฮนนาจึงเป็นที่นิยมนำมาเขียนลวดลายตามร่างกายในปัจจุบัน แต่ห้ามใช้กับหนังศีรษะที่เป็นแผล ย้อมขนตา ขนคิ้ว
3. ผลิตภัณฑ์ย้อมผมชนิดชั่วคราว(Temporary hair dyes) สามารถล้างออกได้หลังจากการสระผมครั้งแรก ผลิตภัณฑ์นี้ใช้สีที่มีโมเลกุลใหญ่ ซึ่งติดสะสมบนผิวของเส้นผมโดยไม่ซึมเข้าไปที่ชั้นกลาง(Cortex) ของเส้นผมเพื่อให้ปอยผมมีสีสดใสมากกว่าผลิตภัณฑ์ย้อมผมชนิดอื่น ปลอดภัย เพราะสีที่ใช้มักเป็นสีที่รับรอง(Certified colour) ใช้เพียงชั่วคราวแล้วล้างออกได้แก่
ก. รินส์โลชั่น(Rinse lotion) เป็นสีที่ใช้ในรูปสารละลายของน้ำหรือสารละลายของน้ำกับแอลกอฮอล์ ใช้ย้อมได้ทันทีหรือเจือจางด้วยน้ำก่อนใช้
ข. โลชั่นเซ็ทผมและแต่งสีผม(Coloured setting lotion) ประกอบด้วยสีผสมในตัวกลางสารละลายโพลีเมอร์ในน้ำ หรือในสารละลายของน้ำกับแอลกอฮอล์ เพื่อให้แห้งเร็ว
ค.ดินสอทาสีผม(Hair crayons) ต้องใช้เป็นประจำเหมือนกับการใช้มาสคาร่าสำหรับปกปิดเส้นผมที่งอกใหม่หลังการย้อม วิธีการใช้คือทำให้ปลายดินสอเปียก แล้วทาตลอดบนเส้นผม เริ่มตั้งแต่หนังศีรษะ
4. ผลิตภัณฑ์ย้อมผมชนิดกึ่งถาวร(Semipermanent hair dyes) มีส่วนประกอบของสี ซึ่งมีขนาดโมเลกุลเล็ก สามารถซึมเข้าไปถึงชั้นกลาง(Cortex) ของเส้นผมได้โดยไม่ต้องมีสารเปอร์ออกไซด์ สีจะคงทนนาน 3-5 สัปดาห์ ได้แก่ แชมพูย้อมสีผม โลชั่น หรือโฟมย้อมสีผม
เนื่องจากสีบางชนิดที่ใช้ เป็นสีชนิดเดียวกับที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ย้อมผมถาวร ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง อาการแพ้ หรือทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง ดังนั้นจึงต้องมีการทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ทุกครั้งเช่นเดียวกับชนิดถาวร และควรปฏิบัติตามวิธีใช้อย่างเคร่งครัด
5. ผลิตภัณฑ์ย้อมผมชนิดถาวร(Permanent hair dyes) ทำให้สีย้อมติดคงทนถาวรในชั้นกลาง(Cortex) ของเส้นผม ผลิตภัณฑ์นี้มักมี 2 ขวด คือ ส่วนผสมของสีในตัวกลางที่เหมาะสม มักเป็นครีม หรือโลชั่น และขวดที่ 2 คือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
วิธีใช้ ผสมน้ำยาขวดที่ 1 และ 2 เข้าด้วยกัน แล้วใช้ทาเส้นผมทันที เกิดปฏิกิริยาขณะที่สีกำลังแพร่กระจายเข้าไปในเส้นผม สีที่เกิดในเส้นผมจะยังคงอยู่หลังจากการล้าง เนื่องจากสีที่เกิดประกอบด้วยโมเลกุลขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะแพร่กระจายออกมาจากเส้นผม สีจึงไม่ถูกกำจัดออกจากเส้นผม คงทนต่อการสระ
*** พาราฟีนีลีนไดอะมีน และพาราโทลูไดอะมีน เป็นตัวยาสำคัญของผลิตภัณฑ์ย้อมผมชนิดถาวร ซึ่งนิยมใช้มากในประเทศไทย และเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ พาราฟีนีลีนไดอะมีน ทำให้ผู้ใช้เกิดอาการแพ้ได้ร้อยละ 4 และเกิดอาการแพ้รุนแรงร้อยละ 1 โดยเริ่มแรก ผิวหนังมีผื่นแดง มีอาการบวมรอบตา ต่อมาผื่นแดงจะกลายเป็นตุ่มใส และมีน้ำเหลือง คันมาก เกิดตั้งแต่ศีรษะ ใบหน้า และต้นคอ ถ้าแพ้มากๆจะหายใจลำบาก นอกจากนั้นทำให้เกิดจ้ำเขียว เป็นผื่น มีการทดลองพบว่าสารพวกนี้ทำให้เกิดเนื้องอกในสัตว์ทดลอง แม้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่สรุปได้ว่าทำให้เกิดเนื้องอกในคนก็ตาม ควรระวังเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการย้อมผม ควรทดสอบการแพ้ก่อนย้อมผมอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด
การย้อมสีผมอย่างถูกต้องและปลอดภัย
1. ทดสอบการแพ้ก่อนใช้*** สำคัญมากค่ะขั้นตอนนี้ ดอกจันไว้สามดอกเลย เชื่อว่าหลายๆคนไม่เคยทดสอบการแพ้ก่อนทำสีผม เพราะต้องทิ้งไว้นานเป็นวัน ส่วนใหญ่ไปย้อมที่ร้าน หรือซื้อมาก็ย้อมเลย ทั้งที่วิธีทดสอบก็ง่ายๆ เพียงทาผลิตภัณฑ์เล็กน้อยที่หลังหูหรือท้องแขนทิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง หากไม่มีความผิดปกติใดๆก็สามารถใช้ได้ ลองดูข่าวคนที่แพ้สีย้อมผม ก็กลัวว่าวันหนึ่งเราจะไม่โชคดีค่ะ
สามสาวอังกฤษ ซื้อยาย้อมผมมาทำสีเอง แล้วเกิดอาการแพ้จนหน้าและคอบวม
(ซ้าย)สาวอังกฤษทำสีผมที่ร้าน แล้วเกิดอาการแพ้ (ขวา)หนุ่มไทยแพ้สีย้อมผม ตาบวมปิด หนังศีรษะลอก
2. ห้าม! ย้อมผมเมื่อหนังศีรษะเป็นแผลหรือรอยถลอก หรือโรคผิวหนังบริเวณศีรษะ เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีดูดซึมเข้าสู่ร่างกายโดยตรง รวมถึงไม่ควรเกาศีรษะอย่างแรงในขณะสระผม
3. ห้ามนำมาย้อมขนคิ้วและขนตาเด็ดขาด! เนื้อเยื่อบริเวณรอบดวงตาบอบบางมาก สารเคมีอาจเข้าสู่ตาซึ่งเป็นอันตรายมาก
4. ห้ามผสมผลิตภัณฑ์ย้อมผมต่างชนิดกัน อย่าลืมว่าส่วนผสมทั้งหมดของสีย้อมผมคือสารเคมี อาจเกิดอันตรายจากปฏิกิริยาเคมีที่ผสมได้
5. ควรสวมถุงมือขณะทำสีผม
6. อย่าย้อมสีผมนานเกินไป ทิ้งความเชื่อที่ว่าย้อมผมนานๆสีจะยิ่งเด่นชัดไปได้เลย เพราะถ้ายิ่งทิ้งไว้นาน สารเคมียิ่งจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมากขึ้นๆ ไม่คุ้มกับสีผมที่ได้มาหรอกค่ะ
7. สระผมและทำความสะอาดหนังศีรษะให้สะอาด หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผม
8. ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการใช้ที่ระบุไว้บนฉลากอย่างเคร่งครัด
9. หากใช้แล้วมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรหยุดใช้และรีบพบแพทย์ แม้อาการจะเพียงเล็กน้อย เช่น แสบร้อน มีผื่นแดง คันยุบยิบ ไม่ว่าจะเคยใช้ยี่ห้อนี้มาก่อนหรือไม่ ต้องหยุดใช้ทันทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ นำฉลากผลิตภัณฑ์ไปด้วย
สำหรับการเลือกสีย้อมผมให้เหมาะสมนั้น ควรเลือกให้เหมาะกับรูปหน้า ทรงผม และสีผิวของตัวเองเป็นหลัก ควรจะเหมาะสมกับอาชีพและกาลเทศะด้วย เพราะบางอาชีพคงไม่เหมาะกับการใช้สีที่ดูฉูดฉาดเกินไป
หลักการพื้นฐานในการเลือกสีผมให้เหมาะกับสีผิว
- ผิวเข้ม เหมาะกับโทนน้ำตาล น้ำตาลแก่ เช่น สีเปลือกเกาลัด สีบราวนี่ สีมอคค่า ทำให้สีผิวดูนุ่มนวลมากขึ้น
- ผิวสีแทน เหมาะกับโทนธรรมชาติ เช่น สีแดงหรือสีน้ำตาล เพิ่มประกายทองแดง ทำให้ดูมีเสน่ห์ น่าค้นหา
- ผิวสองสีและผิวสีน้ำผึ้ง เหมาะกับโทนสีน้ำตาลอมเนื้อ น้ำตาลประกายทอง หรือไฮไลต์น้ำตาลอ่อนไล่ระดับ จะยิ่งช่วยให้ผิวดูสว่างมากขึ้น
- ผิวขาวเหลือง สีผิวทำให้ใบหน้าดูซีดเซียวไม่สดใส จึงควรเลือกทำสีผมโทนร้อน โทนสีแดง เช่น ประกายม่วงเหลือบแดง น้ำตาลแดงประกายม่วง หรือแดงเข้มประกายแดง
- ผิวขาวอมชมพู เหมาะกับเฉดสีบลอนด์ บลอนด์ประกายหม่น หรือโทนน้ำตาลทอง โทนสีน้ำตาลอมส้ม น้ำตาลประกายส้ม จะยิ่งทำให้ดูขาวอย่างมีชีวิตชีวา ดูมีสุขภาพดี
ถ้าอยากจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการทำสีผม ให้เป็นคนใหม่ มีเสน่ห์น่าค้นหา ก็อย่าลืมที่นำวิธีต่างๆข้างต้นไปใช้นะคะ ตั้งแต่ก่อนคิดจะทำสี ข้อควรระวังในการทำ และเฉดสีที่เหมาะกับสีผิวของคุณ ขอให้มีความสุขแบบปลอดภัยๆกับการเปลี่ยนสีผมค่ะ
บทความโดย Fineday
Pooyingnaka.com
อ้างอิง:
- ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสิ่งเป็นพิษ ตอนที่5 พ.ศ. 2533 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. หน้าที่19-22.
- ภาพข่าวจาก daily mail UK