บาบ๋า หรือ เพอรานากัน หมายถึงลูกหลานที่เกิดจากบรรพบุรุษเชื้อสายจีนและคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในภูเก็ตมาประมาณกว่า 200ปี ถือว่าเป็นการแสดงออกทางขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวบาบ๋าที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น บ่งบอกถึงความมั่งคั่ง และสถานะทางสังคมของครอบครัว และเป็นหนึ่งในงานพิธีการที่สำคัญของชาวบาบ๋าค่ะ
ประเพณีที่สำคัญในการสร้างครอบครัวชาวบาบ๋า คือ ประเพณีวิวาห์บาบ๋า เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อดั้งเดิม ที่ผูกพันกับ ความเคารพเทพยดาฟ้าดินสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักษ์รักษาครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข(การทำพิธีไหว้) ความกตัญญูกตเวทีแก่บิดามารดาผู้ให้กำเนิด (การทำพิธีผ่างเต๋) ความรักทะนุถนอมซึ่งกันและกันของคู่สามีภรรยา(เครื่องแต่งกาย อาหาร พิธีทำขนมสด)
การเชื่อมเป็นทองแผ่นเดียวกันของสองครอบครัว(พิธีหมั้น การสู่ขอ) การประกาศต่อสังคมและเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน(ขบวนแห่คู่บ่าวสาว งานเลี้ยง) พิธีการเหล่านี้ได้สืบทอดรุ่นสู่รุ่นมาแต่โบราณ
งานวิวาห์หวานบาบ๋า สุดปลายฟ้าอันดามัน จัดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2548 ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และได้จัดสืบเนื่องกันมาทุกปี เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมด้วยพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์
ความหมายและคุณค่า
ประเพณีวิวาห์หวานบาบ๋า สุดปลายฟ้าอันดามัน ถือเป็นประเพณีหนึ่งที่ให้คุณค่าทางกาย ใจ และสังคมแก่คู่วิวาห์อย่างสูงยิ่ง
ชาวบาบ๋า-เพอรานากัน เป็นชาวภูเก็ตที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนโพ้นทะเล รักครอบครัว กตัญญู เคารพแก่ผู้อาวุโส ญาติมิตรที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน พิธีวิวาห์บาบ๋าจึงไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัวเฉพาะคู่บ่าวสาวเพียงสองคน แต่เป็นการประกาศและดำรงข้อผูกพันในสังคมบาบ๋า-เพอรานากันด้วยพิธีแต่งงานจะขาดเสียมิได้ซึ่งผู้อาวุโส อึ่มหลาง ที่มีบทบาทและความสำคัญมากกว่าเพียงแค่ แม่สื่อ
นอกจากแนะนำสองครอบครัวให้รู้จักและยอมรับกันแล้ว ท่านจะสอนขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ถูกต้องในการปฏิบัติตน การจัดพิธี การรู้จักสัมมาคารวะ ไปจนกระทั่งแนะนำการครองเรือน ทุกคู่จึงรักกันจนนิจนิรันดรรายละเอียดงดงามจำนวนมาก ทั้งฤกษ์ยาม ชุดแต่งงาน เครื่องประดับกาย ของไหว้ เครื่องประดับบ้านเรือน พิธีการต่างๆ ทั้งการไหว้ฟ้าดิน ขบวนแห่ ผ่างเต๋(การรับไหว้น้ำชา)
การเวียนสาดหมอน การชมห้องเจ้าสาว การเดินทางไปขอพรต่อองค์พระสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ แม้มากด้วยความซับซ้อนในพิธีการ แต่ทุกสิ่งมีความหมายที่ลึกซึ้งให้คุณค่าแก่ทุกคนที่ร่วมงาน
การแลกแหวน
การแลกแหวน เป็นการรับประกันอย่างหนึ่งว่าจะเกิดพิธีการแต่งงานขึ้นอย่างแน่นอน แต่ทั้งว่าที่เจ้าบ่าวและว่าที่เจ้าสาวไม่ได้มาทำพิธีสวมแหวนหมั้นด้วยตนเองดังเช่นในปัจจุบัน อึ่มหลางและญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเตรียมแหวนที่จะผูกด้วยด้ายแดงที่วงแหวน (แหวนจะคืนกลับให้ และหากคู่ไหนอยู่กันจนอายุยืนยาวก็จะมีคู่อื่นขอไปแลกเป็นสิริมงคลได้หลายๆคู่ ด้ายแดงผูกหลายเส้นจนแน่นมาก)
แล้วห่อด้วยกระดาษแดงนำไปบ้านเจ้าสาวพร้อมด้วยขนมมงคล เช่น ถ่อต้าวถึง หยุ่นถึง อั้งโจ้ว ผ่างเปี้ย น้ำตาลกรวด จันอับ มีกระดาษแดงตัดเป็นรูปดอกไม้สวยงามรองก้นภาชนะที่ใส่ขนม ซึ่งทำจากไม้ไผ่ มีลักษณะกึ่งปิ่นโตกึ่งตะกร้า ทาสีแดงดำ เรียกว่า เสี่ยหนา
ชมห้องเจ้าสาว
ในระยะก่อนถึงวันแต่งงาน เจ้าสาวจะต้องเตรียมที่นอน หมอน มุ้ง ดอกไม้ประดับห้องและเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่างๆ ไว้ในห้องเจ้าสาว ห้องเจ้าสาวจะเป็นห้องที่สวยที่สุดของบ้าน ทุกคนในงานเมื่อตามขบวนมารับเจ้าสาวจะต้องมาดูห้องเจ้าสาว และต้องเปิดให้ญาติมิตรสามารถมาชมได้ล่วงหน้าอย่างน้อย ๓ วันก่อนการแต่งงานตามประเพณีบาบ๋า หลังแต่งงาน ฝ่ายชายมีทั้งที่นำตัวเจ้าสาวแยกเรือนไปอยู่กับตน หรือจะอยู่กันที่บ้านฝ่ายหญิงด้วยพ่อตาต้องการให้ลูกเขยมารับช่วงกิจการใหญ่หรือในกรณีที่ตนไม่มีลูกชาย ซึ่งจะมี พิธีหกวัน ซึ่งให้เจ้าสาวไปอยู่ที่บ้านเจ้าบ่าวก่อนเป็นเวลา ๖ วันแล้วกลับมาอยู่บ้านเจ้าสาว จะมีการตั้งโต๊ะไหว้บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยขนมและผลไม้
ลักษณะชุดแต่งงานของเจ้าบ่าว
เป็นสูทขาหรือครีมแบบฝรั่ง สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตของชาวเพอรานากันที่ทำงานค้าขายกับบริษัทต่างชาติ
ลักษณะชุดแต่งงานของเจ้าสาว
เป็นชุดยาว หรือปันจูปันจัง ที่สวยสะดุดุตาด้วยความงดงามของลายผ้า และสวมใส่เครื่องประดับประจำตระกูล
คู่รักคู่ไหนที่สนใจจัดพิธีแต่งงานแบบชาวเพอรานากัน เข้าร่วมงานวิวาห์หวานบาบ๋า สุดปลายฟ้าอันดามัน 2556 สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คุณอรศิริ โทร. 081-691-1955 เว็บไซด์ http://www.phuketbaba.com/