รู้ลึกรู้จริง "มะเร็งปากมดลูก" เรื่องสำคัญสำหรับผู้หญิงทุกวัย


   มะเร็งปากมดลูกพบในใครได้บ้าง?

       จากสถิติทั่วโลกนั้น มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม ซึ่งรวมทั้งในประเทศไทยด้วย เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ มักพบในช่วงอายุ 30-70 ปี (พบสูงช่วงอายุ 45-55 ปี) แต่สามารถพบได้บ้างในอายุน้อยกว่านี้ และในผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป

   อะไรเป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก?

       สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก คือ ปากมดลูกติดเชื้อไวรัส ชื่อ ฮิวแมน แปปิลโลมา ไวรัส (Human Papilloma Virus) เรียกสั้นๆว่า เอชพีวี (HPV) หรือ ไวรัสหูด นั่นเอง ไวรัส เอชพีวี มีทั้งหมดกว่า 100 ชนิด แต่ที่ทำให้ติดเชื้ออวัยวะสืบพันธุ์มีประมาณ 30-40 ชนิด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มเสี่ยงต่ำจะทำให้เกิดการเป็นหูดหงอนไก่ และกลุ่มเสี่ยงสูงจะทำให้เกิดมะเร็ง ซึ่งที่พบบ่อย คือ มะเร็งปากมดลูก

       ไวรัสชนิดนี้ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิว หรือเยื่อบุในอวัยวะสืบพันธุ์ จึงทำให้เชื้อไวรัสเข้าไปอยู่ที่ปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อ หรือเซลล์ของปากมดลูก กลายเป็นเซลล์/เนื้อเยื่ออักเสบเรื้อรัง (ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก) และเป็นมะเร็งในที่สุด โดยระยะเวลาตั้งแต่ติดเชื้อไวรัสจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งนั้น ใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี แต่อาจเร็ว หรือช้ากว่านี้ได้

   นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก โดยแบ่งเป็น

   1. ปัจจัยเสี่ยงของฝ่ายหญิงที่สำคัญ คือ

       - มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (ต่ำกว่า 18 ปี)

       - มีคู่นอนหลายคน

       - คลอดบุตรจำนวนหลายคน (มากกว่า 3 คนขึ้นไป)

       - เป็นโรคเรื้อรังหรือโรคที่ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ โดยเฉพาะติดเชื้อไวรัส เอชไอวี/โรค เอดส์ (HIV/ AIDs)

       - มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน เช่น เริม หรือ หนองใน

       - เคยมีความผิดปกติ (การอักเสบเรื้อรัง) ของปากมดลูก โดยตรวจพบจากการตรวจภายใน และจากตรวจเซลล์ปากมดลูก ที่เรียกว่า แป๊บสเมียร์ หรือ แป๊บเทส/Pap Smear หรือ Pap Test (วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่)

       - สูบบุหรี่

       - มีประวัติการใช้ยาฮอร์โมนเพศ ชนิดไดอีธีลสติลเบสทรอล (Diethylstilbestrol เรียกย่อว่า DES/ดีอีเอส) เพื่อป้องกันการแท้งบุตร

       - อาจเกิดจากขาดสารอาหารบางชนิด เพราะพบว่า ผู้หญิงที่รับประทานผักและผลไม้น้อย มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดพบบ่อย รวมทั้งมะเร็งปากมดลูก สูงกว่าคนที่รับประทานผักและผลไม้มาก

       - อาจเกิดจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การสาธารณสุขไม่ทั่วถึง

       - อาจเกิดจากพันธุกรรม

   2. ปัจจัยเสี่ยงจากฝ่ายชายที่เป็นคู่นอน

       - มีคู่นอนหลายคน

       - มีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม และ/หรือ หนองใน

       - มีประวัติเป็นมะเร็งสืบพันธุ์อวัยวะเพศชาย

       - เคยมีคู่นอนที่มีประวัติเป็นมะเร็งปากมดลูก

 

   มะเร็งปากมดลูกมีอาการอย่างไร?

       ในระยะเริ่มแรกหรือในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลย แต่ตรวจพบจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปาก (วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่) เมื่อโรคเริ่มเป็นมาก อาการที่พบบ่อย ก็คือ การมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด โดยอาจจะเป็นเลือดออกกะปริบกะปรอยช่วงระหว่างรอบเดือน ประจำเดือนมานานผิดปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดหลังจากพ้นวัยหมดประจำเดือนถาวรไปแล้ว หรือมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์ (เดิมไม่เคยมี) นอกจากนั้นผู้ป่วยบางรายอาจมีตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น และ/หรือ มีเลือดปนออกมาด้วย รวมไปถึงบางรายอาจมีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

       แต่ถ้าหากโรคมะเร็งลุกลามไปมากขึ้นหรือลุกลามไปอวัยวะอื่นๆในบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้มีอาการปวดหลังหรือปวดก้นกบหรือปวดหลังร้าวลงขาหากโรคไปกดทับเส้นประสาท อาจมีปัสสาวะเป็นเลือดหรืออุจจาระเป็นเลือดหากโรคลุกลามเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่ อาจขาบวมหากโรคลุกลามไปกดทับท่อน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน หรือทำให้ท่อน้ำเหลืองเหล่านั้นอุดตัน และอาจมีปัสสาวะผิดปกติ มีอาการของไตวายเฉียบพลันหากโรคลุกลามไปกดทับท่อไต (ท่อไตอยู่ติดกับปากมดลูก)

   ผู้หญิงควรจะเริ่มตรวจคัดกรองหามะเร็งปากมดลูกเมื่อใด?

       ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทุกช่วงอายุ ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเสมอ (วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่) หรือที่เรียกว่า ตรวจแป๊ปสเมียร์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มเมื่ออายุประมาณ 21-25 ปีขึ้นไป ซึ่งเมื่อพบความผิดปกติ แพทย์อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ตรวจแป๊บสเมียร์ซ้ำ หรือ นัดตรวจแป๊บสเมียร์บ่อยขึ้น หรือ ตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

   แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร?

       การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น แพทย์จะทำการตรวจทางช่องคลอด พร้อมตรวจคลำหน้าท้อง และตรวจทางทวารหนัก เพื่อจะได้เห็นปากมดลูกอย่างชัดเจนรวมไปถึงคลำการลุกลามของโรคในอวัยวะข้างเคียง (คลำได้ทางทวารหนัก) หากพบก้อนเนื้อ และ/หรือ แผล แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา หรือในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่พบก้อนเนื้อ หรือแผลชัดเจน แต่จากการตรวจแป๊บสเมียร์ สงสัยความผิดปกติ แพทย์นรีเวชอาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยกล้องขยายที่เรียกว่า คอลโปสโคป (colposcope) และพิจารณาตัดชิ้นเนื้อในส่วนที่ผิดปกติ เพื่อส่งตรวจทางพยาธิเพิ่มเติมต่อไป

       นอกจากนั้นยังมีการตรวจอื่นๆที่อาจช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกได้ เช่น การขูดมดลูก การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า การผ่าตัดปากมดลูก หรือตามแต่แพทย์นรีเวชจะเห็นว่าเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

   โรคมะเร็งปากมดลูกแบ่งเป็นกี่ระยะ?

       โรคมะเร็งปากมดลูกนั้นแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

   ระยะที่ 0 หรือระยะเริ่มแรกก่อนเป็นมะเร็ง คือ ระยะที่เซลล์ของปากมดลูกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง สามารถตรวจพบได้จากการตรวจแป๊บสเมียร์ ยังไม่สามารถพบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายได้

   ระยะที่ 1 คือ ระยะที่มีเซลล์มะเร็งอยู่เฉพาะบริเวณปากมดลูกเท่านั้น

   ระยะที่ 2 คือ ระยะที่มะเร็งลุกลามออกจากปากมดลูกไปบริเวณช่องคลอดส่วนบนหรือบริเวณอุ้งเชิงกรานแต่ยังไม่ลุกลามถึงผนังอุ้งเชิงกราน

   ระยะที่ 3 คือ ระยะที่มะเร็งลุกลามไปจนติดผนังอุ้งเชิงกราน หรือก้อนมะเร็งมีการกดทับท่อไต ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงจนไตด้านนั้นไม่ทำงาน (อาจทั้งสองไต)

   ระยะที่ 4 คือ ระยะที่มะเร็งลุกลามเข้าสู่อวัยวะข้างเคียง คือ กระเพาะปัสสาวะ และ/หรือ ลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก หรือมะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ปอด กระดูก สมอง และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองอยู่ไกลปากมดลูก เช่น ในช่องท้อง

   รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร?

       แนวทางการรักษามะเร็งปากมดลูกนั้น ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่ผู้ป่วยเป็น สภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วย โรคร่วมอื่นๆที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ (เช่น เบาหวาน และโรคหัวใจ) รวมไปถึงความต้องการมีบุตรของตัวผู้ป่วยเอง (เมื่อเกิดโรคในอายุน้อย) และดุลพินิจของแพทย์ หลังจากที่ทำการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว ผู้ป่วยยังต้องทำการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจแป๊บเสมียร์ และอาจต้องตรวจคอลโปสโคป ทุก 3-6 เดือนหรือตามที่แพทย์นรีเวชนัดตรวจ (มักใช้รักษาเมื่อผู้ป่วยยังต้องการมีบุตร) ส่วนการตัดมดลูก เพื่อเอามดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีบุตรเพียงพอแล้ว ผู้ป่วยมีอายุมาก หรืออยู่ในภาวะหมดประจำเดือนแล้ว หากผู้ป่วยไม่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นได้ อาจพิจารณาทำการรักษาโดยรังสีรักษา

   การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?

       ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งปากมดลูกในแต่ละวิธีนั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละวิธีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลายๆวิธีร่วมกัน เช่น

       ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ได้แก่ อาการปวด การมีเลือดออก การติดเชื้อ การบาดเจ็บจากการผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียง หากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเอามดลูกออกจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมีบุตรได้อีก และหากผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยก็จะมีภาวะหมดประจำเดือนและมีอาการของวัยทองได้

       ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการให้รังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนังในบริเวณที่ฉายรังสีรักษา (การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) และผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน

       ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง มือเท้าชา ภาวะซีด เม็ดเลือดขาวต่ำทำให้ติดเชื้อได้ง่าย (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา, การดูแลตนเอง) ภาวะเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีเลือดออกได้ง่าย การทำงานของไตลดลง ซึ่งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของยาเคมีบำบัด อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย

   โรคมะเร็งปากมดลูกรักษาหายไหม?

       มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมีความรุนแรงปานกลาง ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ได้ผลการรักษาดังต่อไปนี้ คือ

ระยะที่ 0 รักษาได้ผลดีเกือบ 100%
ระยะที่ 1 มีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 80-90%
ระยะที่ 2 มีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 60-70%
ระยะที่ 3 มีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 40-50%
ระยะที่ 4 มีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 0-20%

       ดังนั้นการตรวจคัดกรองเพื่อหามะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญมาก เพื่อผลการรักษาที่ดี

   มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

       1. การป้องกันปฐมภูมิ คือ การป้องกันโดยการหลีกเลี่ยง การลด หรือขจัดสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยง เช่น

   - หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน

   - หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย

   - ให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งเชื้อ เอชพีวี และเชื้อเอชไอวี

   - คุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัย

   - หลีกเลี่ยงการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการติดเชื้อเอชพีวี และเอชไอวี

   - เลิกสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่

   - ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก) ซึ่งในปัจจุบัน ยังมีราคาแพง และป้องกันโรคได้ประมาณ 70% และต้องมีข้อปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนให้ได้ผล

       2. การป้องกันทุติยภูมิ ด้วยวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ การค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกโดยยังไม่มีอาการ หรือการตรวจคัดกรอง

       3. การป้องกันตติยภูมิ คือ การรักษาโรคมะเร็ง เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ซึ่งก็คือ เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็ง มีชีวิตยาวนาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ผลการรักษา ขึ้นกับระยะโรค อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย

 

 

 

บทความ: หาหมอ.com "มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)" โดยแพทย์หญิง ชลศณีย์ คล้ายทอง วว. รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา






Pooyingnaka Wellness