'คอนแทคเลนส์' ภัยเงียบทำร้ายดวงตา


       คอนแทคเลนส์ ทำมาจาก “โพลีเมอร์” หรือพลาสติกชนิดแข็งที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สมัยก่อนจะเป็นแบบ Hard Lens ไม่ค่อยดี ใส่แล้วไม่สบายตา และขาดง่าย แต่ปัจจุบันจะเป็นแบบ Soft Lens คุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดีกว่า ทำให้ใส่ได้นิ่มสบายตา คอนแทคเลนส์ มีเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของสายตาที่ผิดปกติ แต่ปัจจุบันนิยมใส่คอนแทคเลนส์เพื่อเป็นแฟชั่นมากขึ้น เช่น เปลี่ยนสีตา ทำให้ตาโต(บิ๊กอายส์)

   คอนแทคเลนส์มี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

       1. คอนแทคเลนส์เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติ ตัวเลนส์จะเป็นแบบใส สามารถเลือกใส่ตามค่าของสายตาที่ผิดปกติ

       2. คอนแทคเลนส์เพื่อความสวยงาม ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรใส่ เพราะคอนแทคเลนส์เหล่านี้ จะทำให้ออกซิเจนผ่านเข้ากระจกตาได้น้อยกว่าคอนแทคเลนส์ปกติ ส่งผลให้เซลล์ชั้นในของกระจกตาตาย และมีเส้นเลือดงอกเข้าไปในกระจกตา และเมื่อกระจกตาขาดออกซิเจน อาจจะทำให้กระจกตาบวม และเป็นหนองได้ คอนแทคเลนส์เปลี่ยนสีตา หรือบิ๊กอายส์ที่วางขายตามแผง ส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการผลิตและใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นตาบอดได้

   การใส่คอนแทคเลนส์ครั้งแรก

       ควรพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพตาก่อนว่าสามารถใส่คอนแทคเลนส์หรือไม่ เช่น มีโรคและความผิดปกติที่เป็นข้อห้ามหรือไม่ และอายุของผู้ใส่ก็สำคัญ จักษุแพทย์จะแนะนำวิธีการใส่ การถอด การเก็บรักษา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

   ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลอักเสบติดเชื้อที่กระจกตา คือ

       1. ใส่คอนแทคเลนส์ที่เกินอายุที่กำหนด

       2. การใส่คอนแทคเลนส์นอนทั้งคืน

       3. การดูแลรักษาความสะอาดของเลนส์

 

   อาการผิดปกติ

       เมื่อเกิดแผลที่กระจกตา คือ ตามัว ปวดตา เคืองตา สู้แสงไม่ได้ ตาแดง มีขี้ตา น้ำตาไหล ถ้าเป็นมากขึ้นจะเห็นหนองสีเหลือง หรือจุดขาวๆบนกระจกตา

   เชิ้อที่พบบ่อย

       มักเป็นเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส และอาจพบเชื้ออื่นๆได้ด้วย เช่น เชื้อโปรโตซัวอะแคนทามีบา และเชื้อรา ถ้าคอนแทคเลนส์มีความสกปรก ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับทั้ง 3 เชื้อ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่รวดเร็วภายใน 24-48 ชั่วโมง เชื้อลุกลามเข้าไปในลูกตาจะมีหนองในช่องตา ถ้าไม่ได้รับการรักษา เกิดการติดเชื้อ บางครั้งอาจต้องเอาดวงตาออก ฉะนั้น ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษา

       หลังจากรักษาแผลกระจกตาติดเชื้อหายแล้ว กระจกตาจะไม่ใสเหมือนเดิม ตำแหน่งที่หายแล้วจะเป็นสีขาวขุ่น แสงผ่านไม่ได้ ถ้าแผลเป็นตรงกลางกระจกตา คนไข้จะมองไม่เห็น ต้องเปลี่ยนกระจกตา ซึ่งกว่าจะได้กระจกตามาผ่าตัดต้องรอ 4-5 ปี หลังจากเปลี่ยนกระจกตา ผู้ป่วยก็ต้องมาตรวจกับจักษุแพทย์สม่ำเสมอ ทั้งนี้ร่างกายอาจไม่ยอมรับกระจกตา ทำให้กระจกตาขุ่นมัวจนมองไม่เห็นอีก ก็ต้องเปลี่ยนกระจกตาใหม่

       ศ.พญ.พนิดา โกสียรักษ์วงศ์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า "อะแคนทะมีบา เป็นโปรโตซัวแบบเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ในน้ำและดิน มีช่วงชีวิต 2 แบบด้วยกัน โดยแบบที่แรกนั้น จะเรียกว่า ซีสต์ มีขนาด 10-25 ไมครอน เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จะฝังตัวอยู่นิ่งๆ ส่วนแบบที่สองเรียกว่า โทรโฟซอยต์ ที่เคลื่อนไหว มีขนาด 15-45 ไมครอน จะเปลี่ยนรูปร่างจาก ซีสต์ มีฤทธิ์ทำลายดวงตาของคนได้"

       โดยเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้อาศัยอยู่ได้ดีในทุกสภาพอากาศ ไม่ว่าจะร้อนหรือหนาว ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสระน้ำที่มีสารคลอรีน หรือแม้แต่น้ำบ่อน้ำร้อน เจ้าเชื้ออะแคนทะมีบาก็สามารถอาศัยอยู่ได้ ซึ่งคนที่ใส่คอนแทคเลนส์ 70% พบว่ากระจกตาจะเกิดอาการอักเสบมากกว่าคนทั่วไป และเมื่อไปในแหล่งที่มีเชื้อนี้แฝงตัวอยู่ก็จะมีโอกาสติดมากกว่าคนทั่วๆไป

       หากได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการปวดตามาก สู้แสงแดดไม่ได้ กระจกตาขุ่นเป็นฝ้า เกิดแผลอักเสบที่กระจกตา ในบางรายดูคล้ายจะอักเสบเนื่องจากติดเชื้อไวรัสเริม ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ส่วนของการรักษา โดยทั่วไปจะต้องหยอดตาด้วยยาฆ่าเชื้อโดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องผสมจากน้ำยาบางชนิดที่ไม่มีขายในท้องตลาด โดยจะต้องหยอดตาบ่อยๆ เป็นเวลานานหลายเดือน หรืออาจเป็นปีเลยก็ว่าได้ บางรายอาจจะต้องเฝ้าติดตามดูอาการเป็นระยะๆ นานหลายปี เนื่องจากเชื้ออะแคนทะมีบาสามารถมีชีวิตอยู่ในรูปแบบของซีสต์ได้นานหลายสิบปี ดังนั้นเมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีเชื้อโรคที่ไปเป็นอาหารชั้นดีของเชื้ออะแคนทะมีบา ซีสต์ดังกล่าวก็จะแปลงร่างเป็นโทรโฟซอยต์ทำให้ดวงตาอักเสบทันที

 

   สิ่งที่ต้องคำนึงถึง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายในการใส่คอนแทคเลนส์ ได้แก่

       1. อายุ วัยเด็กไม่แนะนำให้ใส่คอนแทคเลนส์ เพราะขาดความรับผิดชอบในการดูแลรักความสะอาด บางครั้งอาจใส่นอนติดกันหลายวัน หรือไปซื้อมาใส่เล่นเพื่อความสวยงามตามแฟชั่น โดยไม่รู้ถึงการเก็บรักษาทำความสะอาดที่ถูกต้อง

       2. ชนิดของคอนแทคเลนส์ โดยทั่วไปใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มจะใส่ง่ายกว่าชนิดแข็ง ถ้าใช้คอนแทคเลนส์ชนิดเปลี่ยนรายวันจะปลอดภัยกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดเปลี่ยนทุก 2 สัปดาห์หรือทุกเดือน แต่ข้อเสียคือมีราคาแพง

       3. วิธีดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ ก่อนใส่และถอดทุกครั้ง ต้องล้างมือด้วยสบู่และล้างน้ำสะอาดก่อน ควรทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ก่อนและหลังการใส่โดยใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ หรือน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์โดยเฉพาะ ที่มีขายตามร้านขายยา ห้ามล้างและแช่คอนแทคเลนส์ด้วยน้ำประปาเด็ดขาด

       4. ระยะเวลาของการใส่คอนแทคเลนส์ ไม่เกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน เพราะยิ่งใส่นานกระจกตายิ่งขาดออกซิเจน และคอนแทคเลนส์จะแห้งมากขึ้น มีโอกาสเกิดแผลติดเชื้อที่กระจกตาจึงสูง และควรใส่คอนแทคเลนส์คู่หนึ่งไม่เกิน 2 สัปดาห์ ถ้าต้องการใส่มากกว่า 2 สัปดาห์ ควรใส่คอนแทคเลนส์ชนิดเปลี่ยนทุก 1-2 ปี

       5. มีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตา เช่น ตาแดง เคืองตา เจ็บตา มีขี้ตา ตามัว สู้แสงไม่ได้ เห็นจุดสีขาวบนกระจกตา ถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ ต้องยุดใส่คอนแทคเลนส์ทันที ให้รีบไปพบจักษุแพทย์ (เวลาพบจักษุแพทย์ให้นำคอนแทคเลนส์และตลับแช่คอนแทค-เลนส์มาด้วย เพื่อนำมาเพาะหาเชื้อต้นเหตุ)

 

 

 

 

 

อ้างอิง: Thainews ฉบับธันวาคม 2553, thaihealth.or.th





แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement