ทุกวันนี้ คำว่า "อาทิเช่น" นับเป็นคำที่ได้ยินได้เห็นบ่อยครั้ง ทั้งจากพิธีกรงานอีเว้นท์ หรือรายการโทรทัศน์ และในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ จนหลายคนเข้าใจว่า เป็นคำไพเราะรื่นหู และใช้ถูกต้อง แต่แท้จริงเป็นการใช้ที่ผิดเพราะ อาทิ กับ เช่น สองคำนี้ ห้ามใช้รวมเป็นคำเดียวกัน และมีหลักการใช้ต่างกัน
คำว่า "เช่น"
เราจะใช้เพื่อยกตัวอย่าง ซึ่งตัวอย่างนั้นไม่ได้อยู่ในชุด หรือกลุ่มของเรื่องเดียวกัน และไม่ต้องเรียงตามลำดับ
ยกตัวอย่าง "ห้างเซ็นทรัลมีหลายแผนก เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องครัว เครื่องนอน รองเท้า นาฬิกา ฯลฯ" ทั้งนี้ ควรจำว่า เมื่อใดที่ใช้คำว่า "เช่น" ไม่ต้องมีคำว่า "เป็นต้น" ปิดท้ายตัวอย่างที่ยกมา ส่วนเครื่องหมายไปยาลใหญ่ (ฯลฯ) นั้น จะใช้ปิดท้ายหรือจะไม่ใช้ก็ได้
คำว่า "อาทิ"
มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า "เป็นต้น" แต่คำว่า "อาทิ" จะต้องตามด้วยตัวอย่างกลุ่มคำในลำดับแรก เช่น "หนึ่งสัปดาห์มีเจ็ดวัน อาทิ วันอาทิตย์"
อย่างไรก็ตาม คำว่า "อาทิ" ที่อยู่ท้ายตัวอย่างก็มี ซึ่งตัวอย่างนั้นต้องเป็นตัวอย่างลำดับแรก เช่น "หนึ่งสัปดาห์มีเจ็ดวัน มีวันอาทิตย์ เป็นอาทิ"
แล้วคำว่า "เป็นต้น" ล่ะ เราจะใช้เมื่อใด ผมขอยกตัวอย่างการใช้คำว่า เป็นต้น ดังนี้...
-พนักงานต้องจัดหาเครื่องเขียนมาเอง ปากกา สมุดบันทึก ไม้บรรทัด เป็นต้น
-พนักงานต้องจัดหาเครื่องเขียนมาเอง เป็นต้นว่า ปากกา สมุดบันทึก ไม้บรรทัด
-พนักงานต้องจัดหาเครื่องเขียนมาเอง ปากกา สมุดบันทึก ไม้บรรทัด เป็นอาทิ
หวังว่า ท่านที่แวะมาอ่านจะนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ทั้งการเขียนและการพูด หากอ่านไปเจอ หรือได้ยินใครพูดว่า "อาทิเช่น" ก็รบกวนช่วยแนะนำด้วยนะครับ...ภาษาไทย ของคนไทย มีระเบียบการใช้ที่แตกต่างกัน เป็นเหตุเป็นผล และมีความงดงามที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ครับ
อ้างอิง : ราชบัณฑิตยสถาน
ที่มา http://www.oknation.net/blog/tewson/2014/05/14/entry-1