ฝึกวินัยลูกด้วยผลตามธรรมชาติจากพฤติกรรมที่ลูกทำ (การให้ลูกเรียนรู้ผลการกระทำด้วยตนเอง)



Photo: inspiredwednesdays.blogspot.com

การฝึกวินัยลูกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแต่ก็ไม่ยากเกินไปหากคุณพ่อคุณแม่มีความอดทนเพียงพอ ส่วนใหญ่เมื่อลูกประพฤติตนไม่เหมาะสม มักโดนตัดสิทธิ์สิ่งต่างๆที่ลูกชอบเช่น “ห้ามดูทีวี หรือไม่ให้ออกไปเที่ยวข้างนอก” แม้วิธีนี้เด็กๆมักจะให้ความร่วมมือแต่ก็เพียงในระยะสั้นๆเท่านั้น พวกเค้าอาจจะทำตามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการเพียงเพราะ”กลัว” คำสั่งห้ามต่างๆ คำขู่ที่คุณพ่อคุณแม่นำมาใช้มักส่งผลในการเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความถูกต้องและความเหมาะสมต่างๆ

ในเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญสมัยใหม่จึงส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตัวเอง เช่นถ้าลูกไม่ยอมใส่หมวก ก็ต้องปล่อยให้เค้าเรียนรู้เองว่าไม่ใส่หมวกแล้วจะเป็นอย่างไร อาจจะร้อนแสบผิวหน้าเลยก็ได้ วิธีนี้จะทำให้เด็กได้เรียนรู้และในครั้งต่อไปเค้าจะคิดและทำอย่างถูกต้องสมเหตุสมผล แต่ในบางเรื่องผู้ใหญ่ต้องมีส่วนร่วมด้วย เช่นถ้าลูกวิ่งไปกลางถนน ครั้งต่อไปเขาจะต้องจับมือคุณตลอดเวลา นี่เป็นการทำความเข้าใจและเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งซึ่งเป็นผลจากการกระทำของเขา (แต่อย่างไรก็ตาม การเดินข้างถนนควรระมัดระวังอย่างมาก และควรสอนให้ลูกๆรู้จักระมัดระวังภัยต่างๆบนท้องถนน)

แต่ในบางครั้งเด็กๆก็ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองไปได้ซะทั้งหมด บางเรื่องไม่เกี่ยวกับอากาศใดๆ ทำให้เด็กๆไม่รับรู้ถึงผลการกระทำนั้นๆ อย่างเช่นการที่ลูกไม่ช่วงงานบ้าน หรือเล่นของเล่นไม่เก็บ การจะฝึกวินัยก็อาจจะต้องใช้เคล็ดลับอีกแบบหนึ่ง


Photo: care.com

✽มี...มี...มี... 3 มี นี้ช่วยได้

ผลต่างๆที่ตามมานั้น ควรมีส่วนประกอบของ 3 มี คือ มีความเกี่ยงข้อง มีความเคารพและมีเหตุผล

มีความเกี่ยวข้อง

ไม่ใช่ทำอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า ถ้าลูกคุณทำบ้านรก ผลกระทบที่ตามมาน่าจะประมาณว่าเขาต้องทำความสะอาดมันซะ (ไม่ใช่ไปยึด iPad เขา)

มีความเคารพ

คุณพ่อคุณแม่อาจจะคาดไม่ถึงว่าการสร้างความอับอายให้กับลูก จะเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้และประสบการณ์ต่างๆ การที่คุณพ่อคุณแม่ ดุด่าลูกต่อหน้าฝูงชนหรือคนอื่นๆที่ไม่ใช่คนในครอบครัวทำให้ลูกหันมาใส่ใจกับเรื่องการถูกกล่าวโทษ แต่ไม่ได้เรียนรู้ในเรื่องการปรับปรุง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเด็ก 7 ขวบต้องการเอาของเล่นสุดโปรดไปห้างฯ แล้วคุณแม่ก็เตือนด้วยเหตุผลนานาประการแล้วว่าเป็นไอเดียที่ไม่ดี แต่ลูกยืนยันที่จะเอาไป เมื่อเขาทำมันหาย คุณแม่ควรจะเห็นได้ทันทีว่าลูกรู้สึกผิดแล้วและเสียใจแค่ไหน แทนที่คุณแม่จะพูดว่า “เห็นมั้ย แม่บอกแล้วว่าอย่าเอามา” คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยลูกตามหาของเล่น เมื่อหาไม่เจอแล้ว พ่อแม่ควรตกลงกันว่าจะพาลูกไปร้านของเล่นในวันหลัง เพื่อที่จะใช้เงินค่าขนมของลูกช่วยซื้อของเล่นใหม่มาแทน ด้วยความใจเย็นและรู้จักเลือกใช้คำพูด ก็จะทำให้พ่อแม่สามารถสอนบทเรียนอันมีค่า ทั้งในเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งของและการตัดสินใจของเขา

มีเหตุผล

แสดงให้เห็นว่าผลกระทบที่ตามมาควรเป็นอะไรที่ลูกสามารถรับมือได้โดยคำนึงถึงอายุ ความรู้และทักษะ และมันก็ต้องอยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะกับการประพฤติผิดของลูก เพราะมันจะช่วยให้เด็กจดจ่อกับความผิดที่เขาทำมากกว่าการที่จะมาโกรธเคืองพ่อแม่ ถ้าเด็ก 3 ขวบเล่นแล้วทำนมหก อย่าคาดหวังให้ลูกถูพื้นด้วยตัวเองเพื่อเป็นการฝึกวินัย แต่ควรเช็ดนมที่หกด้วยกัน ถ้าเขาไม่ทำ คุณแม่ควรจับมือเขาเบาๆ แล้วเคลื่อนไหวมือไปมาพร้อมๆ กัน ถ้าลูกกรีดเสียงจนควบคุมไม่ได้ ให้เขานั่งตักคุณจนกระทั่งอย่างน้อยได้เช็ดพื้นบ้าง เมื่อเขาหยุดร้องไห้ แล้วรู้สึกว่ากล้ามเนื้อผ่อนคลาย ให้ชมลูกว่าเก่งที่เงียบได้เองแล้วค่อยกระทำการต่อไป

เด็กโตอาจจะเถียงคุณ และแทนที่จะหัวเสียใส่เขา ให้คุณคุยกับเขา และอดทนอดกลั้นว่าจะไม่โกรธลูก คุณสามารถลดความตึงเครียดด้วยการพูดถึงผลกระทบที่ตามมาล่วงหน้าไว้เลย เช่น “แม่เห็นถุงขนมเต็มบ้านไปหมด ทิ้งในถังขยะซิลูก ไม่งั้นต่อไปจะไม่ซื้อขนมให้ลูกกินนะ” ถ้าการเตือนล่วงหน้าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ช่วยลูกคิดถกเถียงวิธีแก้ปัญหาที่เขาเป็นคนก่อ ยกตัวอย่างเช่น “ลูกคงอารมณ์เสียแน่ที่ลืมว่ามีงานต้องส่งพรุ่งนี้ แม่รู้ว่าลูกอยากให้แม่ออกไปซื้อของให้ แต่ตอนนี้มันดึกแล้ว และแม่ก็จะไม่ไป ลูกอยากให้แม่ช่วยคิดมั้ยว่าเราจะทำอะไรได้จากของที่เรามีอยู่แล้วในบ้าน”


Photo: Huffingtonpost.com

✽หาความสัมพันธ์ที่ขาดหายไปให้เจอ

แม้ผลกระทบจากการให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาถ้าลูกคุณทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ พ่อแม่จำนวนไม่น้อยมีปัญหากับการวิธีนี้ให้เกิดผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกคุณไม่ยอมทำในสิ่งที่ควรทำ (งานบ้าน) แล้วผลกระทบที่ตามมา (บ้านรกสกปรก) ไม่ได้ทำให้พวกเขาระคายเคือง หรือถึงแม้ว่าคุณแม่อยากจะห้ามไม่ให้ลูกดูทีวีสักแค่ไหน คุณต้องใจเย็นแล้วปรับวิธีการเข้าถึงลูกนิดหน่อย

เมื่อคุณบอกลูกว่าถ้าไม่พับเก็บเสื้อผ้าที่ซักแล้วเข้าที่ เขาจะไม่ได้ดูทีวี นั่นคือการทำโทษ เพราะมันไม่มีความสัมพันธ์อันเด่นชัดระหว่างการทำงานบ้านกับการดูทีวี นอกจากนั้นประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ถ้าไม่…” อาจจะฟังดูเหมือนคำขู่เข็ญ ดังนั้นเด็กจะคิดว่าประเด็นคือการทำให้เขาชดใช้ในสิ่งที่เขาไม่ทำเมื่อพ่อแม่ขอร้อง อย่างไรก็ตามคุณสามารถเปลี่ยนมันให้กลายเป็นผลกระทบที่ตามมาอย่างสมเหตุสมผลได้โดยการใช้คำว่า “เมื่อไหร่…เมื่อนั้น” เช่น “เมื่อไหร่ที่ลูกเก็บเสื้อผ้าที่ซักแล้วเข้าที่ เมื่อนั้นลูกก็จะได้ดูรายการทีวีที่ลูกชอบ”

ด้วยวิธีเช่นนี้คุณแม่ได้สื่อสารอย่างชัดเจนถึงหลักการที่คุณอยากให้ลูกมีไว้ดำเนินชีวิตต่อไปว่า: จงทำสิ่งที่ต้องทำก่อนทำสิ่งที่ต้องการ ลูกอาจจะลงเอยด้วยการไม่ได้ดูรายการทีวีที่เขาชื่นชอบในคืนนั้น และคุยกับเพื่อนๆ ของเขาไม่รู้เรื่องในวันรุ่งขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่เขาทำงานบ้านเสร็จเรียบร้อย เมื่อนั้นเขาจะได้รับรู้ผลนั้นๆ และยิ่งเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมสนุกๆ เพราะจะไม่มีงานบ้านอยู่ในหัวให้กังวลอีก

อีกหนึ่งสูตรที่ขอย้ำคือ สิทธิพิเศษเท่ากับความรับผิดชอบ พ่อแม่หลายคนมีกฎที่บ้านว่าต้องเก็บของเล่นทุกอย่างเข้าที่ก่อนหมดวัน ถ้ามีของเล่นชิ้นไหนวางเกะกะอยู่ที่พื้น ถังขยะจะกินมันเป็นอาหาร คุณแม่ลูก 5 ท่านหนึ่งบอกว่า “ลูกฉันทุกคนรู้ดีว่าถ้าพวกเขาไม่รับผิดชอบต่อสิ่งของของเขา ผลกระทบที่ตามมาคือพวกเขาจะสูญเสียสิทธิพิเศษในการมีสิ่งของนั้นๆ (ถ้าจะให้โหดน้อยกว่านั้น คุณสามารถเอาของเล่นไปเก็บไว้ในชั้นเก็บของสูงๆ หรือในกล่องที่ห้องอื่น แล้วค่อยคืนให้เขาเมื่อลูกคุณแสดงให้เห็นว่าเขาได้เก็บของเล่นชิ้นอื่นๆ เข้าที่เข้าทางอย่างเรียบร้อย)
วิธีนี้จะได้ผลทั้งสิทธิพิเศษที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เมื่อไหร่ที่ลูกของคุณไม่สามารถรับมือกับความรับผิดชอบต่อการเล่นกับพี่หรือน้องได้อย่างไม่มีปัญหา เมื่อนั้นเขาจะสูญเสียสิทธิพิเศษในการเล่นกับพี่หรือน้องคนนั้นๆ เมื่อไหร่ที่เขาไม่พูดกับคุณด้วยความเคารพ เมื่อนั้นเขาจะสูญเสียสิทธิพิเศษในการถูกรับฟัง อย่างไรก็ตาม แทนที่จะพูดว่า “กล้าดียังไงถึงพูดกับแม่อย่างนี้” จงอธิบายอย่างใจเย็นว่า “แม่ยินดีจะคุยเรื่องนี้ด้วยตราบใดที่ลูกสามารถพูดด้วยความเคารพ พร้อมเมื่อไหร่แล้วค่อยไปหาแม่ที่ห้องนะลูกรัก”


Photo:  babypost.com

อีกเทคนิคหนี่งซึ่งมีพลังพอๆ กันเมื่อลูกคุณทำให้สิ่งที่ถูกต้อง ลูกชาย 6 ขวบขอเล่นเกม 10 นาทีก่อนไปรับพี่สาวที่โรงเรียน คุณแม่บอกเขาว่าไม่มีเวลาพอหรอก แต่เขาสัญญาว่าจะหยุดเล่นเมื่อเราจะออกจากบ้าน คุณแม่จึงตัดสินใจให้โอกาสเขา--และย้ำนักย้ำหนาว่าถ้าเขารักษาสัญญา แม่จะยอมให้เขาทำอีกในครั้งต่อไป คุณแม่ถึงเซอไพรส์เลยทีเดียวเมื่อถึงเวลาที่ต้องไป เขากดปุ่มหยุดเกมและใส่รองเท้าอย่างเรียบร้อย ทุกวันนี้มันกลายเป็นกิจวัตรประจำ แล้วเขาจะพูดว่า “ผมรู้ว่าเรามีเวลาไม่มาก แต่แม่ไว้ใจผมได้”

บ่อยครั้งที่พ่อแม่มองข้ามวิธีที่ง่ายที่สุด: “การพูดความจริง” ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกคุณประพฤติตัวไม่น่ารักมาตลอดทั้งวันแล้วถามว่า “คืนนี้เราไปกินไอศกรีมกันมั้ย” จงพูดในสิ่งที่คุณกำลังคิดอยู่ไปเลย: “ลูกรู้ไหมว่าการที่ลูกทำแบบนี้ในวันนี้ทำให้แม่ไม่มีอารมณ์จะพาลูกไปกินไอศกรีมข้างนอกเอาซะเลย” บทเรียนน่ะเหรอ? เมื่อคุณปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างมิถูกมิควร ผลกระทบที่ตามมาก็คือเป็นไปได้มากที่พวกเขาจะไม่อยากทำอะไรพิเศษๆ ให้กับคุณ

✽มีแผนรอง

แม้จะมีกฎเกณฑ์เหล่านี้ แต่ก็จะมีบางโอกาสที่การเข้าถึงเช่นนี้ใช้งานไม่ได้ ถ้าลูกคุณถือว่าการถูกธรรมชาติลงโทษซึ่งเป็นผลจากการกระทำของตนเองไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร (ลองนึกถึงฟันผุเนื่องจากการไม่แปรงฟันดูสิ) หรือถ้าการปล่อยให้ผลธรรมชาติลงโทษจะไปทำร้ายผู้อื่น (คุณจะปล่อยให้ลูกปาหินใส่หน้าคนอื่นเพื่อพิสูจน์ว่ามันจะรู้สึกยังไงไม่ได้) และการค้นหาผลกระทบที่ตามมาอย่างมีเหตุผลโดยปกติแล้วจะไม่สมเหตุสมผลเมื่อคุณกำลังเร่งรีบไปที่ไหนสักแห่ง เช่นตอนลูกชายไม่ยอมใส่เสื้อผ้าก่อนไปโรงเรียนในความเป็นจริง คุณไม่ต้องค้นหาให้ยุ่งยาก ถ้าผลกระทบที่ตามมามันไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง บางทีมันอาจจะไม่ใช่กลวิธีที่ถูกต้อง การแก้ปัญหา การชี้แนวทางใหม่สู่กิจกรรมที่เหมาะสมให้แก่เด็กเล็ก และการประชุมในครอบครัว (กับเด็ก 4 ขวบขึ้นไป) ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างของกลวิธีต่างๆ ที่อาจจะใช้งานได้เมื่อการปล่อยให้ธรรมชาติลงโทษไม่เวิร์ค มันเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในกล่อง “ค้อนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สร้าง แต่เขาจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ ด้วยในการสร้างบ้าน”

เรียบเรียงบทความโดย
✽ดอกจัน✽

ที่มา: นิตรสาร Parents 






Pooyingnaka Wellness