คุณรู้จัก "โรคไทรอยด์" ดีแล้วหรือยัง?


คุณรู้จัก "โรคไทรอยด์" ดีแล้วหรือยัง? 
เนื่องจากวันที่ 25 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันไทรอยด์โลก บางคนอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า โรคไทรอยด์เป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่ง และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังโรคนี้มากนักเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่กำลังป่วยเป็นโรคไทรอยด์ โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัวว่าเป็นอยู่ เนื่องจากยังไม่รู้จักโรคไทรอยด์ดีพอ จึงทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และเพื่อเตรียมตัวรับมือกับโรคนี้ มาพบกับรวมเรื่องน่ารู้ที่จะช่วยคุณไขความลับพร้อมทำความรู้จักกับโรคไทรอยด์ให้มากขึ้น 



รู้จัก "ไทรอยด์" 
ไทรอยด์เป็นชื่อของต่อมชนิดหนึ่งมีรูปร่างคล้ายผีเสื้ออยู่ที่คอใต้ลูกกระเดือก ปกติจะคลำไม่พบ มองไม่เห็น ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน เพื่อควบคุมการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย อุณหภูมิของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึก ต่างจากต่อมทอนซิล ซึ่งเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอยู่ในคอ  มีหน้าที่กำจัดเชื้อโรค ดังนั้นใครหลายคนที่สับสนและเผลอเข้าใจผิดว่า ไทรอยด์กับทอนซิล เป็นต่อมไร้ท่อชนิดเดียวกันแล้วล่ะก็ เปลี่ยนความคิดใหม่ไปได้เลย เพราะต่อมทั้งสองชนิดทำหน้าที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง



"โรคไทรอยด์" เกิดขึ้นได้อย่างไร
ผู้ป่วยโรคไทรอยด์มากกว่าครึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน (เม็ดเลือดขาวในกระแสเลือด หรืออิมมูนซิสเต็ม) ซึ่งกรณีนี้ผู้ป่วยจะมีความเจ็บป่วยรุนแรงไม่เท่ากัน การรักษาจึงทำได้ในระดับที่ควบคุมให้ภาวะของโรคเบาลง หรือทำให้ผู้ป่วยหายขาด สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ไม่ควรปล่อยให้ตนเองเครียดจนเกินไป เนื่องจากความเครียดมีส่วนไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันตนเอง  ขณะที่อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากพันธุกรรมและไวรัส เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมดูแลได้ 

โรคไทรอยด์ชนิดอ้วนและชนิดผอม  
โรคไทรอยด์มีอยู่หลายชนิด สำหรับชนิดที่ทำให้ร่างกายของคุณอ้วนขึ้น นั่นก็คือ โรคไทรอยด์ชนิดอ้วน หรือ ภาวะพร่องไทรอยด์ (Hypothyroid) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมาน้อย ทำให้ร่างกายเกิดอาการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ จึงมีการเผาผลาญพลังงานน้อยกว่าปกตินั่นเอง อาการของโรคไทรอยด์ชนิดอ้วน นอกจากจะน้ำหนักขึ้น อ้วนแบบบวมฉุแล้ว ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น  เฉื่อยชา เบื่อ ขี้เกียจ ไม่อยากทำอะไร ง่วงนอนบ่อย ขี้หนาว ผมร่วง เหนื่อยง่าย ทำอะไรไม่ค่อยไหว ท้องผูก บางรายประจำเดือนมากกว่าปกติ เป็นต้น 

ทั้งนี้ อาการของภาวะพร่องไทรอยด์ จะแตกต่างจากอาการที่ร่างกายอ้วนขึ้นจากอาการบวมน้ำ โดยร่างกายได้เก็บสะสมน้ำไว้ตามอวัยวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แขน ต้นขา ใบหน้า ไม่ยอมถูกขับออกจากร่างกาย ที่เป็นอย่างนี้มีสาเหตุอยู่หลายข้อ เช่น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มน้ำน้อย กินอาหารที่มีรสเค็ม มีโซเดียมมาก หรืออาหารสำเร็จรูปต่างๆ  



โรคไทรอยด์ไม่ได้ทำให้ร่างกายของเราอ้วนขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีโรคไทรอยด์อีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ โรคไทรอยด์ชนิดผอม หรือ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ(Hyperthyroid) ที่เกิดจากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการของภาวะฮอร์โมนเกิน ร่างกายจึงมีการเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติ โรค Graves' disease เป็นภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยอายุอยู่ระหว่าง 30-50 ปีและพบในหญิงมากกว่าชาย 7-10 เท่า  
ส่วนคนที่กำลังประสบปัญหาผอมลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ ยิ่งชั่งน้ำหนักยิ่งลดจนเริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นโรคไทรอยด์ชนิดผอม หรือ อะนอเร็กเซีย เนอร์โวซากันแน่ ข้อแตกต่างระหว่าง 2 โรคนี้ แยกแยะได้ง่ายๆ เนื่องจากภาวะร่างกายซูบผอมจาก อะนอเร็กเซีย เนอร์โวซา (Anorexia Nervosa) นั้น ถือเป็นความผิดปกติทางจิตใจชนิดหนึ่ง โดยมีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับน้ำหนักและรูปร่างตัวเอง  ทำให้มีการอดอาหาร หรือไม่สามารถรับประทานอาหารได้เป็นปกติเป็นเวลานาน เพราะกลัวว่าน้ำหนักขึ้นจะทำให้รูปร่างเสียไป ต่างจากคนที่เป็นไทรอยด์ชนิดผอม ซึ่งจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ใจสั่น มือสั่น ขี้โมโห เครียดง่าย เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หิวบ่อย กินเก่ง แต่น้ำหนักไม่ขึ้น อุจจาระบ่อยขึ้นแต่ไม่เป็นแบบท้องเสีย ประจำเดือนน้อยลงหรือขาดหายไป บางรายตาโปนขึ้น
สังเกตและเฝ้าระวัง ห่างไกล "โรคไทรอยด์"


การเฝ้าระวังโรคไทรอยด์ไม่ยากอย่างที่คิด สามารถเริ่มต้นตรวจเช็คความเสี่ยงได้ด้วยตัวคุณเอง เพียงสังเกตว่าร่างกายมีความผิดปกติหรือไม่ เมื่อมีอาการที่คาดว่าจะเป็นโรคไทรอยด์ ควรพบแพทย์ทันทีเพื่อเจาะเลือดดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ หาระดับ ไทรอกซิน (Thyroxine, T4) ไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine, T3) และ ไทรอยด์ สติมูเลติง ฮอร์โมน(Thyroid-stimulating hormone, TSH) เพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาเนิ่นๆ เพื่อไม่ให้โรคมีความรุนแรงจนรักษาได้ยาก



โรคไทรอยด์เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ แต่ส่วนหนึ่งต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยด้วยในการดูแลสุขภาพร่างกาย ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และทานยาอย่างสม่ำเสมอ หากละเลยไม่รักษาอาการป่วยอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น ส่งผลต่อระบบประสาท การสืบพันธุ์ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ เสี่ยงต่อการแท้งบุตร เป็นต้น และเมื่อใดก็ตามที่เกิดภาวะเรื้อรังขึ้นมา ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่โรคจะกลับมาเป็นได้อีก ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากขึ้นอีกหลายเท่าตัว





แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement