รู้สึกคล้ายมีทรายอยู่ในตา หรือจะเป็น “โรคต้อลม”


รู้สึกคล้ายมีทรายอยู่ในตา หรือจะเป็น “โรคต้อลม”



ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญและความบอบบาง จึงควรได้รับการดูแลปกป้องอย่างถูกวิธี หลายคนอาจจะเคยมีอาการแสบตา เคืองตาคล้ายมีฝุ่นผงอยู่ในตา บางครั้งน้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ ตาแดงเป็น ๆ หาย ๆ หรือมองเห็นไม่ชัดเป็นบางครั้ง อาการเหล่านี้อาจบ่งชี้ว่า คุณกำลังมีต้อลมหรือต้อเนื้ออยู่ในตาก็เป็นได้!

ต้อลม คือภาวะที่เส้นใยคอลลาเจนในเยื่อบุตาขาวเสื่อมสภาพเกิดเป็นเยื่อนูนขึ้นมา มีสีขาวใส เหลืองขุ่น หรือแดงระเรื่อ โดยสาเหตุของการเกิดต้อลมนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดแต่มีหลายปัจจัยที่ทำให้มีอาการมากขึ้น
● แสงแดด และรังสียูวี
● การสัมผัสกับมลพิษต่างๆเช่น ลม ฝุ่น ควัน หรือสารเคมี อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งลมในที่นี้ไม่ใช่แค่หมายถึงลมที่พัดไปมาตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงลมที่เกิดจากพัดลมหรือแอร์ด้วย
● กิจวัตรประจำวันบางอย่างที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นควันและความร้อน เช่น การทำงานกลางแจ้ง ขายของริมทาง หรือการทำอาหารเป็นต้น
● การใช้สายตาผิดวิธีต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ
● มีภาวะตาแห้ง
● มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน
● มีคนในครอบครัวเป็นต้อลม

ในระยะแรกของโรคต้อลมนั้นอาจไม่มีอาการ และเมื่อคนไข้สัมผัสกับสิ่งกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ก็มักทำให้มีอาการแสบตา เคืองตา หรือตาแดงตามมาได้ หากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกวิธีและต่อเนื่อง จะทำให้อาการแย่ลงและพัฒนาต่อกลายเป็นโรค “ต้อเนื้อ” ได้ โดยการรักษาโรคต้อลม มักจะเน้นที่การดูแล ป้องกัน และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ ดังนี้
● การใส่แว่นดำเพื่อป้องกันลม ฝุ่น ควัน และแสงแดด
● หันพัดลม หรือลมแอร์ไปทางอื่นที่ไม่สัมผัสโดนบริเวณดวงตาโดยตรง
● ใส่แว่นกรองแสง หรือแผ่นกรองแสงบริเวณหน้าจอคอมพิวเตอร์
● พักจากการใช้งานสายตาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
● ใส่หมวกหรือกางร่มเมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง
● หยอดน้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นและลดอาการระคายเคือง
หากอาการไม่ดีขึ้นจึงควรพบแพทย์เพื่อให้ได้รับยาและคำแนะนำต่อไป

กรณีไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องและต่อเนื่อง จากต้อลม อาจพัฒนาต่อมาเกิดเป็นต้อเนื้อได้ โดยที่ต้อเนื้อจะมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อสีแดง ชมพูมีเส้นเลือดอยู่ภายใน โดยมักจะขยายขนาดต่อมาจากบริเวณต้อลม และลามเข้ามายึดติดกับตาดำ โดยจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขนาดที่สามารถปิดกลางตาดำ และส่งผลกับการมองเห็นได้ ซึ่งวิธีการดูแลนั้น เช่นเดียวกับการดูแลกรณีที่เป็นต้อลม เพียงแต่หากต้อเนื้อเริ่มมีขนาดใหญ่และเริ่มมีผลกับการมองเห็น แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดลอกต้อเนื้อต่อไป
------------------------------
บทความโดย
พญ.ณัฐชฎา กนกพัชรกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุแพทย์เฉพาะทางต้อหิน โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล  (WMC)
สอบถามเพิ่มเติม : ศูนย์จักษุวิทยาเฉพาะทาง ชั้น 3 โทร 02 836 9999 ต่อ *3621 หรือ *3622






แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement