จัดโซนนิ่งในตู้เย็น


การจัดวางอย่างถูกช่อง มีส่วนช่วยคงความสด
 ที่ประตูตู้ชั้นบนสุด (อุณหภูมิประมาณ 8 องศาเซลเซียส) ชั้นนี้จะเหมาะกับการวางไข่สด โยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยว
 ช่องชั้นใต้ช่องฟรีซ (อุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซลเซียส) เหมาะสำหรับการเก็บเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆที่ยังดิบอยู่ ไส้กรอก ลูกชิ้น แต่เนื่องจากช่องนี้มักจะมีหยดน้ำจากช่องฟรีซหยดลงมา ซึ่งนอกจากจะมีความชื้นแล้ว ยังอาจมีเชื้อแบคทีเรียบางอย่างปะปนอยู่ด้วย ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ของสดเน่าเสียเร็วก่อนเวลาอันสมควร จึงควรแพ็กของสดที่แช่อยู่ในช่องนี้ให้มิดชิด
 ช่องลิ้นชักชั้นล่างสุด (อุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส) ช่องนี้เป็นช่องของผักสด และผลไม้ต่างๆ แต่มีเคล็ดลับอยู่นิดหนึ่งก่อนเก็บคือ ควรจะล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนเก็บ เพราะจะช่วยให้ผักผลไม้เหล่านั้นยู่ได้นานวันขึ้น และตู้เย็นของคุณก็ยังไม่เป็นที่หมักหมมของเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย
 ช่องชั้นตอนกลางของตู้ และตรงประตูตู้ชั้นกลางถึงชั้นล่าง (อุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส) บริเวณช่องชั้นต่างๆเหล่านี้ เหมาะกับการแช่ขวดน้ำ และเครื่องดื่มต่างๆ

ระยะเวลาของอาหารชนิดต่างๆที่อยู่ในตู้เย็น
 อาหารที่ปรุงสำเร็จแล้ว หากต้องการเก็บเข้าตู้เย็น ควรแพ็กใส่กล่องหรือภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดให้เรียบร้อย แต่ถ้าอาหารนั้นยังร้อนอยู่ก็ควรปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นลงก่อน อย่างไรก็ดีถ้าหากอยากให้เย็นเร็วขึ้นก็ยกอาหารในภาชนะไปแช่ในน้ำเย็น
 อาหารสด หากเป็นเนื้อสัตว์ที่ยังสดอยู่จะเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 2-5 วัน แต่ถ้าหากเป็นเนื้อสัตว์ที่สุกแล้วจะเก็บได้นาน 2-6 วัน ส่วนเนื้อสัตว์ที่สับหรือบดแล้วจะเก็บได้ไม่เกิน 1 วัน แต่ถ้านำไปทำให้สุกจะอยู่ได้ 2-4 วัน และสำหรับไข่จะตรงกันข้ามกับเนื้อสัตว์ เพราะไข่สดจะเก็บได้นาน 3-4 สัปดาห์ ซึ่งจะนานกว่าไข่ต้มสุกที่อยู่ได้แค่ไม่เกินสัปดาห์เดียวก็จะเริ่มมีกลิ่นตุๆเสียแล้ว ส่วนผักใบจะมีระยะในการเก็บในตู้เย็นประมาณ 1-3 วัน แต่ถ้าเป็นผักประเภทกะหล่ำจะอยู่นาน 5-7 วัน

ในช่วงที่อากาศข้างนอกร้อนอบอ้าว ยิ่งควรรีบเก็บอาหารเข้าตู้เย็นให้เร็วขึ้นหรือทันทีที่นึกได้ ไม่ควรทิ้งอาหารไว้ข้างนอกตู้เย็นนานเกินไป เพราะเชื้อโรคในอากาศอาจล่องลอยมาปะปนกับอาหารได้โดยง่าย และประตูของตู้เย็นก็ไม่ควรจะถูกปิดๆเปิดๆบ่อย ยิ่งไปกว่านั้นก็ควรจะปรับอุณหภูมิภายในตู้เย็นให้มีความเย็นยิ่งขึ้นด้วย




แสดงความคิดเห็น






Insurance


Advertisement