AIDS...เอดส์


โรคเอดส์คืออะไร
เอดส์ หรือ AIDS (Acquired Immuno Deficiency Syndrome) เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอดส์ซึ่งจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว แหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรคทำให้ติดโรคชนิดอื่นๆได้ง่ายขึ้น เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนปกติ อาการจะรุนแรง และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต

โรคเอดส์เกิดจากเชื้ออะไร
เชื้อไวรัสเอดส์ หรือ HIV (Human Immunodeficiency Virus) สามารถแบ่งตัวในเซลล์ของคน หรือเม็ดเลือดขาว เซลล์สมอง เมื่อติดเชื้อร่างกายจะสร้างภูมิต้านทาน (Antibody) ต่อต้านเชื้อไวรัส แต่ไม่สามารถกำจัดให้หมดไป เชื้อยังคงอยู่ในเม็ดเลือดและแพร่ต่อไปได้ และจะไปทำลายเม็ดเลือดขาว ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมการทำงานของระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้ภูมิต้านทานลดลง

เชื้อไวรัสเอดส์มีคุณสมบัติอย่างไร
เชื้อไวรัสเอดส์สามารถอาศัยหรือทำให้เกิดโรคในคนเท่านั้น ไม่สามารถทำให้เกิดโรคในสัตว์อื่นๆ เมื่อออกมานอกร่างกายคนแล้วจะไม่สามารถทนสภาพแวดล้อมภายนอกได้ อาจมีชีวิตได้นานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันเท่านั้น เช่น เพียงถูกความร้อน 56 องศาเซลเซียส นาน 10-15 นาที เชื้อก็ตายหมด นอกจากนี้ยังทำลายได้ด้วยยาฆ่าเชื้อต่างๆ เช่น น้ำยาซักผ้าขาว (โซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5%)

ไวรัสเอดส์อยู่ในส่วนใดของร่างกายบ้าง
เชื้อไวรัสเอดส์พบมากที่สุดในเลือด น้ำเหลือง เนื้อเยื่อต่างๆ รองลงมาคือ น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด ส่วนน้ำลาย เสมหะ น้ำนม มีปริมาณไวรัสเอดส์น้อย สำหรับเหงื่อ ปัสสาวะ และอุจจาระ แทบไม่พบเลย

แม้ว่าเชื้อเอดส์จะปะปนในของเหลวที่ออกจากร่างกาย แต่พบว่าโอกาสแพร่โรคมีเฉพาะเลือด น้ำอสุจิ และน้ำในช่องคลอดเท่านั้น

โรคเอดส์ติดต่อกันได้อย่างไร
ช่องทางการติดต่อที่สำคัญมี 3 ทาง คือ

1. การร่วมเพศกับผู้ติดเชื้อเอดส์
โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่าชายกับชาย ชายกับหญิง หรือหญิงกับหญิง ทั้งช่องทางธรรมชาติหรือไม่ธรรมชาติ ก็ล้วนมีโอกาสติดโรคนี้ได้ทั้งสิ้น และปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น ได้แก่ การมีแผลเปิด และจากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา พบว่า ประมาณร้อยละ 84 ของผู้ป่วยเอดส์ได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์

2. การรับเชื้อทางเลือด
โอกาสติดเชื้อขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัสในเลือด พบได้ 2 กรณี คือ
- ใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์ มักพบในกลุ่มผู้ฉีดยาเสพติดและหากคนกลุ่มนี้ติดเชื้อ ก็สามารถถ่ายทอดเชื้อเอดส์ทางเพศสัมพันธ์ได้อีกทางหนึ่ง
- รับเลือดในขณะผ่าตัดหรือเพื่อรักษาโรคเลือดบางชนิด ในปัจจุบันเลือดที่ได้รับบริจาคทุกขวด ต้องผ่านการตรวจหาการติดเชื้อเอดส์และจะปลอดภัยเกือบ 100% (โอกาสตรวจผิดหรือเลือดมีเชื้อแต่ยังไม่ให้ผลบวกมีน้อยมาก)

3. การแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก
ผู้หญิงสามารถติดเชื้อเอดส์ได้จากสามี คู่รัก คู่นอน หรือพฤติกรรมเสี่ยงของตนเอง พบว่าอัตราการติดเชื้อเอดส์ในหญิงมีครรภ์ประมาณร้อยละ 1.39 (มิถุนายน 2545) สามารถถ่ายทอดให้ทารกได้ทั้งในขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอดและภายหลังการคลอดประมาณร้อยละ 30

ในขณะนี้มีวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูกได้โดยการกินยาต้านไวรัส ในช่วงอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ไปจนคลอด สามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ลงได้จากร้อยละ 30 เหลือเพียงร้อยละ 8 แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ดี ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การตรวจเลือดก่อนตัดสินใจมีบุตร

ในระยะหลังคลอด เด็กสามารถรับเชื้อเอดส์จากแม่ทางน้ำนม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงดังกล่าวง จึงควรใช้นมผงทดแทน

เชื้อไวรสัเอดส์ติดต่อทางอื่นๆได้หรือไม่
การติดต่อทางอื่นนั้นเป็นไปได้ยาก ต้องมีปัจจัยอื่นๆด้วยจึงจะติดเชื้อนี้ได้ แต่โอกาสมีน้อยมาก ได้แก่
- การใช้ของมีคมร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยไม่ทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ เช่น ใบมีดโกน ที่ตัดเล็บ
- การเจาะหูโดยใช้เข็มเจาะหูร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์โดยไม่ได้ทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ
- การสักผิวหนัง/สักคิ้วโดยการใช้เข็มร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์โดยไม่ได้ทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ

วิธีดังกล่าวเป็นการติดต่อโดยการสัมผัสกับเลือดหรือน้ำเหลืองโดยตรง โอกาสติดโรคด้วยวิธีนี้ต้องมีแผลเปิด และปริมาณเลือดหรือน้ำเหลืองเข้าไปในร่างกายต้องมีจำนวนมาก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ติดเอดส์
โรคเอดส์ไม่ติดกันได้ง่ายๆ ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อเอดส์มีหลายประการคือ
1. ปริมาณเชื้อเอดส์
หากได้รับเชื้อจำนวนมาก โอกาสติดโรคก็มากไปด้วย เชื้อเอดส์มีมากที่สุดในเลือด รองลงมาคือ น้ำอสุจิ และน้ำในช่องคลอด
2. การมีบาดแผล
เพราะเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ทำให้ติดโรคได้ง่ายขึ้น
3. การติดเชื้ออื่นๆ
ได้แก่การเป็นกามโรคบางชนิด เช่น แผลริมอ่อน แผลเริม ทำให้มีเม็ดเลือดขาวอยู่ทีแผลจำนวนมากพร้อมที่จะรับเชื้อได้โดยง่าย เป็นหนทางให้เชื้อเอดส์เข้าสู่แผลได้ง่ายขึ้น
4. จำนวนครั้งของการสัมผัส
การสัมผัสเชื้อโรคบ่อยๆจะมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้นไปด้วย
5. สุขภาพของผู้รับเชื้อ
ถ้าไปสัมผัสเชื้อเอดส์ในขณะที่ร่างกายไม่แข็งแรงก็จะมีโอกาสรับเชื้อได้ง่ายขึ้น

โรคเอดส์มีกี่ระยะ
ผู้ที่ได้รับเชื้อเอดส์ จะเกิดอาการต่างๆของโรค ซึ่งมี 2 ระยะ ดังนี้
1. ระยะไม่ปรากฎอาการ (ASymptomatic Stage)
ผู้ติดเชื้ออาจจะไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ระหว่งนี้สุขภาพจะแข็งแรงเหมือนคนปกติ เลือดจะให้ผลบวกหลังรับเชื้อประมาณ 6 สัปดาห์ขึ้นไป ผู้ติดเชื้อจำนวนมากจะอยู่ในระยะนี้และไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ก็อาจถ่ายทอดเชื้อเอดส์ไปสู่คู่เพศสัมพันธ์ได้
2. ระยะที่มีอาการ (Symptomatic Stage)
ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการภายหลังจากได้รับเชื้อเอดส์ประมาณ 7-8 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
2.1 ระยะเริ่มปรากฎอาการ (Symptomatic HIV Infection)
เดิมเรียกระยะมีอาการสัมพันธ์กับเอดส์หรือ ARC (AIDS Related Complex) ปัจจุบันใช้คำใหม่เพื่อให้เข้าใจง่าย ในระยะนี้นอกจากเลือดจะให้ผลบวกแล้วยังอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง เช่น
- มีเชื้อราในปาก บริเวณกระพุ้งแก้มและเพดานปาก
- ต่อมน้ำเหลืองโต ที่บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ
- เป็นงูสวัด หรือแผลเริมชนิดลุกลาม
- มีอาการเรื้อรังนานเกิน 1 เดือนโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น มีไข้ ท้องเสีย ตุ่มคันบริเวณผิวหนัง น้ำหนักลด
2.2 ระยะโรคเอดส์ (AIDS)
ภูมิต้านทานของผู้ป่วยถูกทำลายไปมาก ทำให้ติดโรคที่มักไม่เป็นในคนปกติ ที่เรียกว่า "โรคติดเชื้อฉวยโอกาส" ซึ่งมีหลายชนิด แล้วแต่ว่าจะติดเชื้อชนิดใด และเกิดที่ส่วนใดของร่างกาย โรคที่พบบ่อย คือ
- วัณโรคที่ปอดจะมีอาการไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด หอบ น้ำหนักลด
- ปอดบวมจากเชื้อ Pneumocystis Carinii จะมีไข้ ไอแห้งๆ หอบ
- เยื้อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ Cryptococcus จะมีอาการปวดศรีษะอย่างรุนแรง คอแข็ง คลื่นไส้อาเจียน
- เชื้อราในทางเดินอาหาร จะมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก
- มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งหลอดเลือด (Kaposi's Sarcoma) จะมีอาการเป็นจ้ำสีม่วงแดงหรือแดงคล้ำตามผิวหนัง ซึ่งในคนไทยพบน้อยมาก
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Non-Hodgkin's Lymphoma) เป็นมะเร็งของระบบน้ำเหลืองที่มีลักษณะเป็นก้อนโตตามต่อมน้ำเหลืองต่างๆ

ใครบ้างที่ควรตรวจหาเชื้อเอดส์
1. ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และต้องการรู้ว่าตนเองติดเชื้อเอดส์หรือไม่
2. ผู้ที่ตัดสินใจจะมีคู่หรือยู่กินฉันท์สามีภรรยา
3. ผู้ที่สงสัยว่าคู่นอนของตนจะมีพฤติกรรมเสี่ยง
4. ผู้ที่คิดจะมีบุตร ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยทั้งของแม่และลูก
5. ผู้ที่ต้องการข้อมูลสนับสนุนเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของร่างกาย เช่น ผู้ที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศ (บางประเทศ)

ถ้าสงสัยว่าติดเชื้อเอดส์ ควรตรวจเลือดเมื่อใด
การตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอดส์นั้นมิใช่การตรวจหาเชื้อไวรัสเอดส์ แต่เป็นการตรวจหาร่องรอยที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับโรคนั้น ซึ่งเรียกว่าภูมิต้านทาน และจะตรวจพบได้ในระยะเวลาตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป หลังจากรับเชื้อมาแล้วหรืออาจจะนานกว่านั้นก็ได้

ดังนั้นถ้าสงสัยว่าติดเชื้อเอดส์ จึงไม่ควรตรวจเลือดทันที เพราะเลือดอาจยังไม่ให้ผลเป็นบวก ควรตรวจภายหลังจากที่สัมผัสเชื้อมาแล้ว 6 สัปดาห์ขึ้นไป จะให้ผลที่แน่นอนกว่า

การตรวจเลือดมีขั้นตอนอย่างไร
1. การตรวจขั้นต้น (Screening Test) เป็นการตรวจหาภูมิต้านทานโรคต่อเชื้อนั้น (Antibody) ซึ่งราคาถูก สะดวก รวดเร็ว มีความไวสูง และให้ผลที่น่าเชื่อถือได้มากกว่า 99.5% ถ้าหากเลือดให้ผลบวกจะต้องได้รับการตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่ง
2. การตรวจยืนยัน (Confirming Test) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการวินิจฉัยโรคจากการตรวจขั้นต้นว่ามีการติดเชื้อเอดส์จริงหรือไม่





แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement