แพทย์แนะผู้มีภาวะความดันโลหิตสูง หมั่นวัดค่าความดันด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
พบผู้ป่วยกว่าร้อยละ 40 ได้รับการวินิจฉัยความรุนแรงของโรคผิด
แนะวัดความดันโลหิตด้วยตนเองทุกวัน หลีกเลี่ยงภาวะความดันโลหิตสูงปลอม และภาวะความดันโลหิตสูงหลบซ่อน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ลดอัตราเจ็บป่วยโรคแทรกซ้อน และอันตรายจากการทานยาลดความดันเกินจำเป็น
บริษัท ออมรอน เฮลธแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพ จัดงาน "รู้รอบ รู้ลึกกับภาวะความดันโลหิตสูง ลดเสี่ยงโรคแทรกซ้อน" โดยมี ศาสตราจารย์ คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อภิชาต สุคนธสรรพ์ นายกสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย เป็นผู้บรรยายให้ข้อมูลสถานการณ์ความดันโลหิตสูงในประเทศไทย และการดูแลตนเองของผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคให้เหมาะสมและลดอัตราเสี่ยงจากภาวะโรคแทรกซ้อน อันตรายที่เกิดจากการรักษาที่ไม่จำเป็น และภาระค่าใช่จ่ายในระยะยาว เนื่องในโอกาสวันความดันโลหิตสูงโลก (วันที่ 17 พ.ค. ของทุกปี) ซึ่งถือเป็นสัปดาห์แห่งการรณรงค์ลดความดันโลหิตสูงโลกอีกด้วย
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุหลักอันดับหนึ่งของอัตราการเสียชีวิตทั่วโลก โดยภาวะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคทางหลอดเลือดต่างๆ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ซึ่งคร่าชีวิตคนทั่วโลกมากกว่า 6-7 ล้านรายทุกปี และในปี 2568 คาดว่าจะมีความชุกของโรคความดันโลหิตสูงทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 1.56 พันล้านคน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นความดันโลหิตสูงกว่า 10 ล้านคน แต่ร้อยละ 70 ของคนกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อภิชาต สุคนธสรรพ์ นายกสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "จากสถิติภาวะความดันโลหิตสูงทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก จึงมีนโยบายรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายของโรคและการป้องกันควบคุมโรค รวมถึงรู้จักค่าความดันโลหิตและวัดความดันโลหิตได้เองที่บ้าน เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีภาวะความดันโลหิตสูงหลายระดับแตกต่างกันจึงต้องการการรักษาที่แตกต่างกัน เพื่อมุ่งแก้ปัญหาด้านประสิทธิภาพการรักษาที่เกิดจากค่าความดันโลหิตของผู้ป่วยที่วัดได้ในโรงพยาบาลซึ่งมักไม่ตรงกับค่าความดันจริง และลดการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิต"
"จากการศึกษาในประชากรขนาดใหญ่ พบว่า การวัดค่าความดันโลหิตและใช้นิยามระดับความดันโลหิตที่สถานพยาบาลเป็นตัวตั้งในการออกแบบการรักษา ทำให้มีการจัดนิยามระดับความรุนแรงของโรคผิดไปมากกว่าร้อยละ 40 ของผู้ป่วย เนื่องจากค่าความดันที่วัดได้ที่โรงพยาบาลอาจไม่ตรงกับค่าความดันจริง โดยมักมีสาเหตุมาจาก ภาวะความดันโลหิตสูงปลอม (White Coat Hypertension) คือ ภาวะที่ความดันโลหิตที่วัดที่คลินิก โรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุข พบว่าสูง (ความดันซิสโตลิค มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันไดแอสโตลิก มากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท) อาจเกิดจากความตื่นเต้น ความกังวล หรือตอบสนองต่อสภาวการณ์ในขณะนั้น แต่ความดันในช่วงระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันหรือจากการวัดด้วยเครื่องวัดความดันอัตโนมัติพบว่าไม่สูง อีกสาเหตุหนึ่งของค่าความดันที่ไม่ตรงกับความจริงคือ ภาวะความดันโลหิตสูงหลบซ่อน (Masked Hypertension) คือ ภาวะที่ความดันโลหิตที่วัดในคลินิก โรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุข พบว่าปกติ (ความดันซิสโตลิค น้อยกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันไดแอสโตลิก น้อยกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท) แต่ความดันในช่วงระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันหรือเมื่อวัดความดันโลหิตที่บ้านจากการวัดด้วยเครื่องวัดความดันอัตโนมัติพบว่าสูง"
"การที่หมอมีข้อมูลความดันโลหิตของผู้ป่วยที่วัดเป็นประจำทุกวันจากที่บ้าน มีส่วนช่วยหลีกเลี่ยงอันตรายจากการใช้ยาลดความดันโดยไม่จำเป็น เช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยทานยาลดความดันเกินจำเป็นจนกลายเป็นภาวะความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) ซึ่งนอกจากจะทำให้รู้สึกคลื่นไส้ เวียนหัวแล้ว ความดันต่ำเกินไปอาจทำให้ระดับออกซิเจนในร่างกายลดลงจนทำให้อวัยวะบางส่วน เช่น หัวใจหรือสมอง ทำงานผิดปกติ ทำให้ล้มหรือชักได้ รวมถึงความสามารถในการมองเห็นและการได้ยินลดลง และอาจจะทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์เร็วขึ้นในผู้สูงอายุ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยาทุกตัวมักมีข้อดี ข้อด้อย และผลแทรกซ้อนทั้งสิ้น และการใช้ยาแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน โดยผู้ป่วยไม่ควรหาซื้อยารับประทานเอง และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ การไม่สูบบุหรี่ การงดรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มจัด การลดน้ำหนัก การพักผ่อนที่เพียงพอ และการผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขระหว่างเป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย" ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อภิชาต กล่าวเพิ่มเติม
นายกรุงศรี ภักดีหล้า ผู้จัดการส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท ออมรอน เฮลธแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ค่าความดันโลหิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งวัน ด้วยตัวแปรที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและกิจกรรมในแต่ละวันที่แตกต่างกันไป การเลือกเครื่องวัดระดับความดันควรคำนึงถึงความแม่นยำของเครื่องมือที่ใช้มากที่สุด เพราะการให้ค่าที่ผิดพลาดจะส่งผลถึงการรักษาที่ไม่ถูกต้อง เราจึงต้องเลือกเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความถูกต้อง แม่นยำ และผ่านการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล เช่น เครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติของออมรอน รุ่น HEM -7280T ที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นมาพร้อมเทคโนโลยี IntelliSense ที่ช่วยให้การวัดความดันโลหิตทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ พร้อมสัญญาณเตือนหากพันแขนไม่ถูกต้อง รวมถึงรองรับการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ตรวจสุขภาพและโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ด้วยแอพพลิเคชั่น OMRON Connect ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ เพื่อบันทึกทุกผลการตรวจวัดความดันโลหิต ทั้งยังอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการและเรียกดูข้อมูลในภายหลัง และสามารถวิเคราะห์ สรุปข้อมูลในรูปแบบของกราฟแนวโน้มหรือตารางที่เข้าใจง่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แพทย์สามารถตัดสินใจให้การรักษาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพกับตัวผู้ป่วยมากที่สุด"
"ตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอที่บ้านควรทำอย่างน้อยวันละ 2 เวลา คือในตอนเช้าและตอนเย็น โดยวัดในท่านั่ง พร้อมจดบันทึกข้อมูลค่าความดันโลหิตของตนเองอย่างถี่ถ้วน เพื่อนำไปประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยการใช้ยาอยู่ ควรวัดในช่วงเช้าก่อนรับประทานยาลดความดันโลหิต 2 ครั้ง และช่วงเย็นอีก 2 ครั้ง (รวมวันละ 4 ครั้ง ) เป็นประจำทุกวัน วัดความดันโลหิตในครั้งแรกทั้ง 2 แขนเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความผิดปกติของโรคหลอดเลือดบางชนิด และระดับของปลอกแขนจะต้องอยู่ในระดับหัวใจหรือถ้าวัดความดันที่ข้อมือจะต้องยกมือมาอยู่ในระดับหัวใจ การวัดที่ดีต้องอยู่ในท่านั่งหลังจากที่ได้พักผ่อนประมาณ 10 นาที และเพื่อความแน่นอนอาจจะวัด 2-3 ครั้งซ้ำได้ นอกจากนี้ ควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ไปเรื่อยๆ เพราะจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้คือการช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตอยู่กับความดันโลหิตสูงอย่างมีความสุข" ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อภิชาต กล่าวทิ้งท้าย