Talk About Women

ในหลวงทรงรับสั่ง "ฉันจะอยู่ถึง 120 ปี..."
“ฉันจะอยู่ถึง 120 ปี จะอยู่จนฉลองพระราชพิธีครองสิริราชสมบัติครบ 100 ปี” นั่นคือพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ระหว่างจัดถวายพระพรและขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่จะถวายพระพรว่า ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมพรรษาเกินกว่า 100 พรรษา <br>
<br>
ซึ่งท่านผู้หญิงบุตรีได้กรุณาอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวมาเล่าให้ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีคนหนึ่งของไทยฟัง <br>
<br>
อาจารย์เผ่าทองอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสนี้มาเล่าให้แขกกลุ่มหนึ่งของไทยธนาคารฟังเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา <br>
<br>
.... แม้การฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 8-12 มิถุนายนที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ได้สร้างความปลื้มปีติและความประทับใจแก่ปวงชนชาวไทยไม่รู้ลืม แต่เบื้องหลังงานพระราชพิธียังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เป็นความรู้และน่าสนใจอย่างยิ่ง ไทยธนาคารได้จัดงานย้อนรำลึกถึงงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยเชิญอาจารย์เผ่าทองมาเป็นวิทยากร เล่าแบบเจาะลึกในทุกพระราชพิธี เพื่อให้ปวงพสกนิกรได้ซาบซึ้งและอิ่มใจมากยิ่งขึ้น <br>
<br>
อาจารย์เผ่าทอง เล่าว่า งานฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี เรียกว่า รัชดาภิเษกสมโภช ครองราชย์ครบ 50 ปี เรียกว่า กาญจนาภิเษกสมโภช หากครองสิริราชสมบัติครบ 75 ปี จะเรียกว่า ฉลองพระราชพิธีพัชราภิเษก <br>
<br>
“แต่งานฉลอง 60 ปีครั้งนี้ พระเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงนับเป็นไดมอนด์จูบิลี แต่เมื่อฉลองครบ 100 ปี ก็จะเป็นพระราชพิธีที่สำคัญมากที่สุด เรียกว่า อมรินทร์ภิเษกสมโภช” <br>
<br>
โคมไฟระย้า 6 คู่ในพระนั่งอมรินทรวินิจฉัยนั้นได้แต่ใดมา ? <br>
<br>
อาจารย์เผ่าทอง เล่าว่า ในวันที่ 8 มิถุนายนนั้น มีพระราชพิธีพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ความหมายของพระราชพิธีนี้ก็คือการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่บรรพบุรุษนั่นเอง ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญมากในประเทศไทย เพราะคนไทยเราก่อนที่จะฉลอง เริ่มความสนุกสนานอะไรก็ตาม เราต้องนึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษเสียก่อนเพื่อความเป็นมงคล <br>
<br>
พระราชพิธีนี้มีขึ้นที่พระนั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระที่นั่งองค์นี้มีโคมไฟระย้า หรือ Chandelier จำนวน 6 คู่ ซึ่งโคมไฟแก้วทั้ง 6 คู่นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสั่งมาเพื่อติดประดับที่วังสวนสุนันทา แต่เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สวรรคต <br>
<br>
“รัชกาลที่ 5 ทรงอาลัย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นำเอาโคมไฟนี้มาประกอบเข้ากับหลอดกระแสไฟฟ้าติดที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเพื่อใช้กับกระแสไฟฟ้า นับว่าเป็นโคมไฟคู่แรกที่ได้ใช้กับกระแสไฟฟ้า และพระที่นั่งนี้ก็เป็นอาคารแรกในประเทศไทย และเป็นอาคารแรกของพระบรมมหาราชวังที่มีกระแสไฟฟ้าใช้” <br>
<br>
ในหลวงทรงจุดธูปเทียนจากซ้ายไปขวา <br>
<br>
พระราชินีทรงจุดธูปเทียนจากขวามาซ้าย <br>
<br>
ในที่พระที่นั่งองค์นี้มีนพปฎลมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น มีพระที่นั่งบุษบกมาลา สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ข้างบนประดิษฐานพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรองค์ใหญ่ ปางอุ้มบาตรองค์เล็ก พระพุทธรูปปางนาคปรก ปางถวายเนตร ปางสมาธิอยู่ด้านหลัง เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร หรือพระพุทธรูปประจำวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 8 และพระมเหสี <br>
<br>
การเรียงลำดับพระบรมโกศพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อน ก็มีเกร็ดอยู่ว่า พระบรมโกศของรัชกาล 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3 อยู่ด้านกลาง มีแท่นรองวางพระบรมโกศของรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 8 อยู่แถวหน้า พระมเหสีเทวีอยู่ 2 แถวหลังของพระบรมโกศทุกรัชกาล <br>
<br>
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงจุดธูปเทียนนมัสการพระพุทธรูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงจุดธูปเทียนจากซ้ายไปขวา และสมเด็จพระบรมราชินีจะทรงจุดจากขวามาซ้าย นี่เป็นโบราณราชประเพณี <br>
<br>
การเสด็จออกมหาสมาคม <br>
<br>
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ทรงสายสะพายสีชมพูนั้นคือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า สายสะพายจะเป็นสีชมพู จะทรงเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เมื่อเป็นพระราชพิธีส่วนพระองค์ภายในที่เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์ หรือสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า <br>
<br>
ในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ที่พระที่นั่งอนันตมหาสมาคม เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน มีพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราช ซึ่งจะมีการนำพระพุทธรูปแทนองค์บุรพมหากษัตริย์เข้าประกอบพระราชพิธี โดยมีพระพุทธรูปแทนพระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัยทุกพระองค์ พระพุทธรูปแทนพระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาทั้ง 34 พระองค์ พระพุทธรูปแทนพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระพุทธรูปแทนรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 8 ในแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งหล่อจากแร่ทองแดงที่ขุดได้ใน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้น <br>
<br>
ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉลองพระองค์ทรงเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรี และที่สำคัญคือเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ จะมีการเชิญพระกลดที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีการลดหลั่นชั้นยศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงใช้พระกลดสีเหลือง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงใช้พระกลดสีแดง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงใช้พระกลดสีม่วง มีระบาย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ก็ทรงใช้ร่มหรือฉัตรธรรมดา <br>
<br>
สำหรับบทบวงสรวงบุรพมหากษัตริย์นั้น ราชครูวามเทพมุนีเป็นผู้อ่าน ซึ่งบทบวงสรวงนี้ อาจารย์วรพิญ สดประเสริฐ กับอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นผู้ประพันธ์ มีพระนามของพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลและทุกพระองค์ <br>
<br>
เพชรพระมหาวิเชียรบดีหนัก40กะรัต <br>
<br>
พระราชพิธีในวันที่ 10 มิถุนายน คือพระราชพิธีเวียนเทียนสมโภช และพิธีการสถาปนาสมณศักดิ์ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันประกอบไปด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นทองคำลงยาประดับอัญมณี แต่สมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อเพชรจากอินเดียน้ำหนัก 40 กะรัตขึ้นมาประดิษฐานไว้บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ มีความหมายว่าเป็นของหนัก เป็นภาระของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะว่าในการปกครองประเทศต้องแบกรับทั้งทุกข์ทั้งโศก โรคภัยของประชาชนทั้งประเทศด้วย ด้วยสิ่งนี้พระมหาพิชัยมงกุฎจึงมีน้ำหนัก 7.2 กิโลกรัม <br>
<br>
ในครั้งรัชกาลที่ 1 เวลาที่ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ เสด็จฯ เทียบพระนครทางชลมารคคือทางเรือให้ประชาชนชมพระบารมี บางช่วงท่านโปรดให้เอาเชือกผูกห้อยเอาไว้กับหลังคาด้านในของเรือพระที่นั่ง เวลาที่เสด็จฯ ผ่านประชาชนจึงต้องเหยียดพระองค์ขึ้นให้พระเศียรไปเสมอกับมหามงกุฎ <br>
<br>
ลำดับที่สองพระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรม เพราะว่ามีดหรือดาบเป็นอาวุธที่มีคมด้านเดียว ด้านหนึ่งเป็นสัน ด้านหนึ่งมีคม ถ้าใครเอาด้านที่เป็นสันฟันก็ไม่ตาย ถ้าเอาด้านคมฟันก็ตาย แต่พระแสงขรรค์นั้นมีคม 2 ด้าน พลิกด้านบนและด้านล่าง ไม่มีบน ไม่มีล่าง ไม่มีซ้าย ไม่มีขวา เสมอกันหมด <br>
<br>
ต่อไปก็คือ พระวาลวีชนีกับพระแส้จามรี ใช้ขจัดปัดเป่าให้เกิดความร่มเย็นกับประชาชนราษฎร ธารพระกรคือไม้เท้า ทำจากไม้ชัยพฤกษ์ ใช้สำหรับพยุงพระองค์ พระมหากษัตริย์ไปเยี่ยมราษฎร <br>
<br>
ลำดับสุดท้ายคือฉลองพระบาทเชิงงอน ใช้งอนพระบาทเพื่อไม่ให้พระบาทสัมผัสแผ่นดิน เนื่องจากสมมติว่าเป็นสมมติเทพ เพราะหากพระบาทสัมผัสกับแผ่นดิน ก็จะเกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง <br>
<br>
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงวันนี้ ทุกพระองค์เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์โบราณมงคลนพรัตนราชวัชวราภรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลแรกของไทย ประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 <br>
<br>
“เกร็ดความรู้คือในสมัยพระเจ้านะโปเลียน ที่ 3 ของฝรั่งเศสทรงส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น 1 สูงสุดของฝรั่งเศสมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แต่รัชกาลที่ 4 ทรงตรัสว่าเราไม่มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตอบแทนฝรั่งเศสเลยจะทำอย่างไรดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ขึ้น โดยใช้สายสะพายเป็นสีเหลือง แถบสองข้างเป็นสีเขียว และมีดารานพรัตน์ประดับด้วยอัญมณีพลอย 9 ประการ ส่งไปถวายพระเจ้านะโปเลียนที่ 3 <br>
<br>
พระเจ้านะโปเลียนที่ 3 จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ต่างชาติพระองค์แรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ และประเทศไทยก็เป็นประเทศแรกของเอเชียที่มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์” <br>
<br>
เผาใบสมิทเพื่อให้ทรงพ้นภยันตราย-โรคันตราย <br>
<br>
ช่วงการทำพิธีบายศรีนั้น ผู้ที่อยู่ในพระราชพิธีต้องเวียนเทียน 3 ครั้ง และใช้มือขวาปัดควันออก โบกควันเข้าไปในพระมหาเศวตฉัตร เมื่อครบ 3 รอบเทียน ก็จะกลับมาที่พราหมณ์ราชครู จากนั้นราชครูจะนำไปปัก พานที่ปักเทียนบรรจุข้าวสารไม่บรรจุทราย กระถางธูปในวังจะบรรจุข้าวสารเพราะถือว่าเป็นสิ่งบริสุทธิ์ ไม่ใส่ทรายเพราะถือว่ามีคนเหยียบย่ำ <br>
<br>
จากนั้นพราหมณ์ราชครูจะดับเทียนด้วยวิธีใช้ใบพลู 9 ใบ 1 เรียงแล้วดับเทียนให้สนิท แล้วใช้ใบพลูโบกควัน 3 ครั้ง ให้เข้าสู่พระมหาเศวตฉัตร ดับแล้วใช้แป้งกระแจะเจิมลงตรงกลางใบพลู แล้วพราหมณ์ราชครูเชิญแป้งบนใบพลู แล้วเชิญแป้งไปถวายเจิมที่โคนของพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งมีผ้าสีชมพูผูกอยู่ที่โคน แถบผ้าสีชมพูนี้จะมีการถวายทุกปีในวันฉัตรมงคล ใช้ผูกของเป็นสิริมงคลสูงสุดเป็นการถวายพระพร สมโภชสิริราชสมบัติเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ <br>
<br>
พราหมณ์ราชครูจะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำพระมหาสังข์ น้ำเทพมนต์ ถวายใบสมิท การถวายน้ำพระมหาสังข์ ถ้ามีอาวุโสสูงกว่าก็ให้รดที่ศีรษะคนมีอาวุโสต่ำกว่า แต่เมื่อพระราชครูรดพระเจ้าอยู่หัว ก็จะถวายที่พระหัตถ์ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงรับแล้ว ก็จะทรงแตะที่เส้นพระเจ้า ที่พระเศียร จากนั้นถวายใบมะตูมมีลักษณะเป็น 3 แฉก เป็นสัญลักษณ์แทนตรีศูล ซึ่งเป็นอาวุธของพระอิศวร ในหลวงทรงเหน็บที่หูขวา พราหมณ์ถวายบังคม 3 คาบ จากนั้นก็ไปถวายบังคมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อที่จะไปถวายน้ำพระมหาสังข์ที่พระหัตถ์เช่นเดียวกัน <br>
<br>
จากนั้นพระราชครูไปเชิญใบสมิทมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชครูถวายพระพรเป็นภาษาสันสกฤต ในหลวงทรงขอให้ให้พรเบาๆ จากนั้นทรงรับใบสมิท <br>
<br>
ใบสมิทแรกคือใบมะม่วงจำนวน 25 ใบ ทรงรับแล้วปัดพระองค์ แต่ถ้าเป็นโบราณต้องใช้คำว่าฟาดพระองค์ เอาสิ่งที่ไม่ดีภยันตราย 25 ประการ แทนที่ด้วยใบมะม่วง 25 ใบออกไปจากพระองค์ จากนั้นทรงรับใบสมิทลำดับที่ 2 เป็นใบทอง 32 ใบ แทนอุปัทวันตราย อุบัติเหตุทั้ง 32 อย่าง ฟาดพระองค์ จากนั้นทรงรับใบสมิทลำดับ 3 คือใบตะขบ 96 ใบ แทนโรคอันตราย 96 โรค ในโบราณมีโรคอันตราย 96 โรค จากนั้นราชครูจะนำเอาใบสมิทไปเผาทิ้งที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์เพื่อให้พระเจ้าอยู่หัวจะแคล้วคลาดจากภยันตราย โรคันตราย จากนั้นก็ทรงพระสุหร่ายและเสด็จฯ กลับ <br>
<br>
โปรดให้ใช้เพลงมหาชัยถวายพระเกียรติยศ <br>
<br>
สำหรับพระราชพิธีในวันที่ 11 และ 12 มิถุนายนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงรับพระประมุขทั่วโลกที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ในหลวงทรงยื่นพระหัตถ์ให้ก่อน เพราะทรงมีอาวุโสสูงสุดกว่าพระประมุขทั่วโลก เป็นธรรมเนียมว่า ผู้น้อยจะไม่ยื่นมือไปให้ผู้อาวุโสสัมผัส <br>
<br>
เมื่อพระประมุขทุกพระองค์เข้าประจำที่ที่พระเก้าอี้ จะทราบว่าองค์ไหนนั่งพระเก้าอี้ไหน ให้ดูที่พระเขนย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระเขนยมีครุฑแดง แต่ละราชวงศ์จะมีตราประจำอยู่ <br>
<br>
เมื่อนายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลจบแล้วเพลงสรรเสริญพระบารมีก็บรรเลงขึ้น แต่มีพระประมุขหลายชาติมิได้ทรงทราบว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงประจำของในหลวงจึงทรงผุดลุกผุดนั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งแรกไม่ได้ทรงยืน แต่เมื่อพระประมุขทั้งหลายทรงยืน พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงยืนด้วย <br>
<br>
“เรื่องที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือเมื่อนายกฯ ถือเป็นผู้มียศต่ำสุดในสถานที่แห่งนั้น จึงกราบบังคมทูลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้พระประมุขชาติอื่นเข้าใจด้วย ในหลวงมีพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาไทย แต่หากพระประมุขอยู่กับพระประมุข ก็จะมีพระราชดำรัสเป็นภาษาของชาตินั้นๆ และจะมีคำแปลเป็นตัวหนังสือถวายก่อนหน้าหรือภายหลัง จบแล้วดนตรีบรรเลงเพลงมหาชัย อันนี้เป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะมีรับสั่งว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงประจำพระองค์ ถ้ามาเปิดตอนจบแล้ว ก็แปลว่าพระประมุขทุกชาติต้องมาถวายความเคารพพระองค์ ซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากพระประมุขทุกชาติมีศักดิ์เสมอกันหมด ด้วยเหตุนี้จึงโปรดให้ใช้เพลงมหาชัย ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของรัตนโกสินทร์” <br>
<br>
พระเศวตฉัตร 9 ชั้นมีความหมาย <br>
<br>
ส่วนพระราชพิธีจัดเลี้ยงพระประมุขทั่วโลกที่พระที่นั่งสถิตยมโหฬารนั้น พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงรับพระราชอาคันตุกะที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งพระที่นั่งองค์นี้ ในท้องพระโรงกลางประดิษฐานพปฎลมหาเศวตฉัตร พระที่นั่งพุฒตาลกาญจนสิงหาสน์ อยู่ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น <br>
<br>
พระมหาเศวตฉัตร 9 ชั้นนี้ มีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ของไทยเป็นใหญ่เหนือทิศทั้ง 9 ความจริงแล้วทิศมี 32 ทิศ แต่ทิศที่สำคัญมี 10 ทิศ คือทิศหลัก 4 ทิศ คือ เหนือ ใต้ ออก ตก ทิศรอง 4 ทิศ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ ฯลฯ ทิศที่ 9 คือทิศเบื้องล่างและทิศสุดท้ายคือทิศเบื้องบน <br>
<br>
ทิศเบื้องบนนั้นถวายเป็นสถิตแก่เทพยดาฟ้าดินทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้เทพยดาฟ้าดินจึงปกปักรักษาพระมหาเศวตฉัตรของไทยให้รอดมาเป็นเอกราชจนถึงทุกวันนี้ <br>
<br>
โคมระย้าในพระที่นั่งมีตำนาน <br>
<br>
นอกจากนี้ มี Chandelier ขนาดใหญ่ในท้องพระโรงกลาง Chandelier ช่อนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นโคมไฟระย้าที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก เป็นอันเดียวที่อยู่ในทวีปเอเชีย อีก 9 อันอยู่ในยุโรปและตะวันออกกลาง <br>
<br>
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จึงได้นำมาติดตั้งอยู่ที่พระที่นั่งจักรีตลอดมา เป็นเกียรติเป็นศรีแก่ประเทศชาติตลอดมา <br>
<br>
เมื่อเสด็จฯ ยังพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร จะมีการจำลองบุษบกมาลาจากพระที่นั่งมาประดิษฐานโดยฝีมือช่างศิลปาชีพ เป็นทองคำทั้งองค์ ประดับเพชร ฉัตร 7 ชั้นเป็นเพชร และมีหัตถกรรมไทยอีกหลายอย่างที่แสดงถึงช่างฝีมือชั้นสูงของไทย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝ่ายในร้อยขึ้น ใช้ดอกพุทธชาดในวังโบราณ ดอกเล็กๆ ละเอียด ฝอย และกลิ่นหอมมากมาร้อยเป็นรูปกระแต ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝ่ายในร้อยขึ้น สำหรับพระราชทานพระราชอาคันตุกะในวันเลี้ยงในพระที่นั่งจักรีด้วย <br>
<br>
จานทองคำทำให้ฝรั่งเศส <br>
<br>
จานโชว์เพลตของพระประมุขเป็นทองคำ ของทั่วไปเป็นถมเงิน จานมาจากบริษัท แซทส์ จากฝรั่งเศส แก้วเหล้ายี่ห้อ โมเซย์ จาก สาธารณรัฐเช็ก <br>
<br>
สำหรับปกเมนูแกะสลักจากไม้โมกมันกรอบเป็นทองคำ มีพระปรมาภิไธย ภปร. ของคนอื่นเป็นทองคำลงยา แต่ของพระประมุขเป็นเพชร ท่านผู้หญิงสุพรเพ็ญ หลวงเทพ เป็นผู้ถวายงานในครั้งนี้ เราลืมไปว่าฝรั่งเป็นธรรมเนียมเก็บสะสมเมนู ท่านผู้หญิงสุพรเพ็ญเลยทำเต็มที่ พระประมุขทุกพระองค์จึงทรงนำกลับไปหมด <br>
<br>
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสจบแล้วไม่ใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีแต่ใช้เพลงมหาชัย เพราะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ศักดิ์ศรีเสมอกัน ทุกพระองค์ทรงยืนถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัว ทรงชนแก้ว สุลตาลบรูไนเป็นมุสลิม แชมเปญจะไม่มีแอลกอฮอล์ และของพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่มีแอลกอฮอล์ จากนั้นทุกพระองค์ก็ประทับพระเก้าอี้ <br>
<br>
สุลตาลบรูไนมีพระราชดำรัสตอบ โดยตามประเพณีจะต้องมีการสวดบทคัมภีร์อัลกุรอาน เพราะทรงเป็นมุสลิม หลังจากทรงอ่านจบก็จะมีพระราชดำรัสเป็นภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นก็เปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี เพราะสุลตาลบรูไนมีพระราชดำรัสแทนพระมหากษัตริย์ทุกประเทศ ก็จบเหตุการณ์สำคัญทั้งหมด <br>
<br>
เพื่อให้ปวงพสกนิกรได้ซาบซึ้งและเข้าใจราชประเพณีตลอดจนขนบธรรมเนียม ฯลฯ ไทยธนาคารมีกำหนดจะเชิญอาจารย์เผ่าทองไปเดินสายพูดเรื่องนี้อีก 6 รอบทั่วประเทศ <br>
<br>


29 Jun 2006  |  Post by : PangRum
Comment 1
<br>
<br>
ทรงตรัสอย่างไม่เกรงกลัวอะไรเลยเนอะ <br>
<br>
แต่อย่างไรก็ตามพวกเราปวงชนชาวไทย ก็อยากให้ท่านทรงเป้นร่มโพธิร่มไทรของพวกเราต่อไปอีกนานๆอยู่แล้ว... <br>
<br>
.....ทรงหายจากพระอาการป่วยไวๆนะคะ <br>
<br>
<br>


21 Jul 2006  |  Comment by : MilkyWay

Comment



Pooyingnaka Wellness

Webboard
โพสต์โดย: maewmiao 0
โพสต์โดย: cheriz 2
โพสต์โดย: kikkiky 0
โพสต์โดย: gsmiz 6
โพสต์โดย: happyluke_3107 0
โพสต์โดย: baggydoll 0
โพสต์โดย: cucuka 1
โพสต์โดย: คนเป็นหนี้ 5

Interest Product