Talk About Women

ใช้เกียร์อัตโนมัติให้เป็น
เกียร์อัตโนมัติกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะมีความสะดวกสบาย ไม่อืดหรือสิ้นเปลืองน้ำมันเหมือนเกียร์อัตโนมัติรุ่นเก่า และมีอายุการใช้งานยาวนาน หากใช้ และดูแลรักษาอย่างถูกวิธี

ตำแหน่งของเกียร์อัตโนมัติและการใช้งาน
P-PARK - ใช้สำหรับการจอดนิ่ง ควบคุมไม่ให้รถยนต์ไหล ต้องเข้าเกียร์นี้เมื่อหยุดสนิท และเหยียบเบรกหรือดึงเบรกมือไว้แล้วเท่านั้น เพราะต้องเลื่อนผ่านเกียร์ถอยหลังก่อน หากไม่เหยียบเบรกไว้ รถยนต์อาจกระตุกถอยไปชนอะไรได้

เมื่อเข้าเกียร์ในตำแหน่งนี้ รถยนต์จะไม่สามารถขยับได้ เพราะมีสลักล็อกในเรือนเกียร์ และต้องระวัง เพราะหากมีอะไรมากระแทกรถยนต์ภายหลังการเข้าเกียร์นี้ จะทำให้สลักล็อกหักได้ ถ้าไม่แน่ใจให้ใช้วิธีเข้าเกียร์ว่าง และดึงเบรกมือแทน

หากจอดรถขวางรถยนต์คันอื่น ไม่ควรเข้าเกียร์ P ไว้ เพราะเป็นการเสียมารยาท อาจทำให้ถูกกรีดหรือขูดสีรถยนต์ได้


R-REVERSE – เกียร์ถอยหลัง ควรเข้าเกียร์เมื่อจอดสนิทเท่านั้น และต้องเหยียบเบรกไว้ทุกครั้ง จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยเท้าจากเบรกมาเหยียบคันเร่ง ไม่ควรเข้าเกียร์ถอยหลังขณะที่รถยนต์ยังไหลไปข้างหน้าเด็ดขาด เพราะเกียร์อาจพังได้

N-NEUTRAL – เกียร์ว่าง ไม่มีการส่งกำลังจากเครื่องยนต์ เมื่อจอดแล้วสามารถเข็นได้ เหมาะสำหรับการจอดซ้อนคันหรือจอดในที่สาธารณะ

D-DRIVE - เกียร์เดินหน้า ต้องเข้าเกียร์นี้เมื่อรถยนต์หยุดสนิทแล้ว และเหยียบเบรกไว้ทุกครั้ง จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยเท้าจากเบรกมาเหยียบคันเร่งเมื่อใช้เกียร์ในตำแหน่งนี้ ระบบควบคุมจะเลือกเปลี่ยนจังหวะเกียร์ขึ้น-ลงตามความเหมาะสม โดยผู้ขับไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์เอง

นอกจากนั้น ยังอาจมีเกียร์ในตำแหน่งอื่น เช่น 2, L2, 1, L1 ถัดมาจากตำแหน่ง D มีไว้ใช้สำหรับลากรอบสูง ๆ เพื่อความจัดจ้านในอัตราเร่ง ใช้ในการขึ้น-ลงทางลาดชัน หรือการลดเกียร์ต่ำใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรก คล้ายกับระบบเกียร์ธรรมดา โดยก่อนเข้าเกียร์ต่ำกว่าตำแหน่ง D ต้องแน่ใจว่าความเร็ว และรอบเครื่องยนต์ไม่เกินขีดสูงสุดของแต่ละเกียร์ คล้ายกับเกียร์ธรรมดา

การใช้เกียร์อัตโนมัติควรศึกษาความเร็วสูงสุดของแต่ละเกียร์ไว้ด้วย โดยเริ่มจากเกียร์ต่ำสุดซึ่งมักจะเป็นเกียร์ L หรือเกียร์ 1 กดคันเร่งไล่รอบขึ้นไป ดูว่าเกียร์ 1 ทำความเร็วสูงสุดได้เท่าไร จากนั้นผลักคันเกียร์ไล่ขึ้นไปเป็นเกียร์ 2, 3 และ 4 เพื่อให้ผู้ขับเปลี่ยนเกียร์เองได้ คล้ายกับเกียร์ธรรมดาในบางกรณี โดยไม่เกิดความเสียหาย เพราะรถยนต์แต่ละรุ่นมีความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ไม่เท่ากัน

2 หรือ L2 หมายถึง มีเกียร์ 1 และ 2 ให้ใช้ โดยระบบจะสลับขึ้นลงให้เอง 1 หรือ L1 หมายถึงมีเกียร์ 1 ให้ใช้เท่านั้น

โอเวอร์ไดร์ฟ
โอเวอร์ไดร์ฟ คือ เกียร์ที่มีอัตราทดต่ำ เพื่อให้เครื่องยนต์หมุนรอบต่ำลงโดยความเร็วไม่ลดลง และให้ความประหยัดเมื่อใช้ความเร็วคงที่ และต่อเนื่อง

โอเวอร์ไดร์ฟ แบ่งเป็น 2 ระบบ คือ แยกจากเกียร์ D ออกมาเป็นสวิตซ์เปิด-ปิด (OVERDRIVE ON/OFF) ใกล้กับหัวเกียร์ และอีกแบบ คือ รวมอยู่ในตำแหน่ง D เช่น เกียร์อัตโนมัติมีทั้งหมด 4 จังหวะ โอเวอร์ไดร์ฟแบบแยก ถ้าปิดสวิตซ์โอเวอร์ไดร์ฟจะมีเกียร์ให้ใช้งาน 3 จังหวะ เมื่อเปิดโอเวอร์ไดร์ฟจะมีเกียร์ให้ใช้ครบ 4 จังหวะ หากเป็นโอเวอร์ไดร์ฟแบบรวม ถ้าเข้าเกียร์ D จะมีเกียร์ให้ใช้งานครบ 4 จังหวะ ถ้าไม่อยากใช้โอเวอร์ไดร์ฟ ก็เลื่อนคันเกียร์มาที่ 3

ก่อนใช้งาน
ควรศึกษาการล็อกตำแหน่งต่าง ๆ ของแต่ละเกียร์ว่า มีการควบคุมด้วยปุ่มบนหัวเกียร์อย่างไร เช่น การเลื่อนคันเกียร์สลับไปมาระหว่าง N กับ D มักไม่ต้องกดปุ่ม เป็นการออกแบบเพื่อความสะดวก หากกดปุ่ม นอกจากเปล่าประโยชน์แล้ว ยังอาจเลื่อนเลยมาทางเกียร์ต่ำกว่าได้ หรือในการปลดเป็นเกียร์ว่าง อาจผลักเลยไปยังเกียร์ถอยหลังได้

รถยนต์บางรุ่น สามารถดึงคันเกียร์ลงมาสุดที่ตำแหน่ง D2 หรือ 2 โดยไม่ต้องกดปุ่ม ถ้าผลักไปข้างหน้าจะสุดที่ N ดังนั้นไม่ควรกดปุ่ม เพราะถ้าผลักดันเกียร์เลยขึ้นไปก็จะสุดที่เกียร์ว่างเท่านั้น ไม่มีทางเลยไปถึงเกียร์ถอยหลังได้

ก่อนสตาร์ตเครื่องยนต์
ต้องอยู่ในตำแหน่ง P หรือ N เท่านั้น ถ้าอยู่ในตำแหน่งอื่นจะสตาร์ตเครื่องยนต์ไม่ติด

การเข้าเกียร์ P แล้วสตาร์ตเครื่องยนต์ สามารถทำได้ แต่ถ้าต้องการเดินหน้าก็ต้องเลื่อนคันเกียร์ไปที่ D ซึ่งต้องผ่านเกียร์ R ก่อน ดังนั้น ก่อนสตาร์ต ควรเลื่อนคันเกียร์ไปที่ N ดึงเบรกมือให้สุด แล้วจึงสตาร์ตเครื่องยนต์ จากนั้นจึงเข้าเกียร์เดินหน้าหรือถอยหลังตามปกติ

การออกตัว
เมื่อสตาร์ตเครื่องยนต์ติดแล้ว ควรรอประมาณ 1-2 นาที เพื่อให้น้ำมันเกียร์ไหลเวียนเต็มที่ จากนั้นให้เหยียบเบรกจนสุด เลื่อนคันเกียร์ไปที่ D แล้วรอประมาณ 1-2 วินาที เพื่อให้คลัตช์จับตัวเต็มที่ จากนั้นจึงปล่อยเบรก และเหยียบคันเร่ง

การใช้งาน
เมื่อเข้าเกียร์ D ในการใช้งาน ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนเกียร์เอง ในการเปลี่ยนมาสู่เกียร์ขับเคลื่อนทั้งเดินหน้าและถอยหลัง ควรให้รถยนต์จอดสนิท และเหยียบเบรกควบคู่กัน เพื่ออายุการใช้งานของเกียร์

การขับแบบเคลื่อนที่ตามกันไปช้า ๆ อาจดึงคันเกียร์ลงมาที่ 2 หรือ 1 เพื่อให้เกียร์หน่วงความเร็วของรถยนต์ ทำให้ไม่ต้องแตะเบรกบ่อย ๆ ลดความเมื่อยล้า และป้องกันไฟเบรกไปสร้างความรำคาญให้ผู้ขับด้านหลัง

การเร่งแซง
มี 2 วิธี คือ กดคันเร่งจนสุด – KICK DOWN เกียร์จะเปลี่ยนลงให้ 1-2 จังหวะ ขึ้นอยู่กับความเร็วขณะนั้น และน้ำหนักในการกดคันเร่ง อีกวิธีเมื่อความเร็วไต่ไปถึงเกียร์สูงสุด คือ ปิดสวิตซ์โอเวอร์ไดร์ฟ เกียร์จะเปลี่ยนจากเกียร์ 4 เป็นเกียร์ 3

การขั้น-ลงทางลาดชัน
ทางขึ้น ให้กดคันเร่ง-KICK DOWN ก่อนว่าไปไหวหรือไม่ หากกำลังไม่พอให้ลดเกียร์ลงมา 1 จังหวะ แล้วค่อยกดคันเร่งหนัก ๆ ไม่จำเป็นต้องลดลงมาเกียร์ต่ำที่สุดในทันที เพราะยังขึ้นอยู่กับความลาดชัน

ทางลง ควรเบรกให้หยุดนิ่งแล้วเปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำสุดแล้วค่อยออกตัว หากขับแล้วช้าเกินไปหรือทางไม่ชันมาก ค่อยเลื่อนขึ้นสู่เกียร์สูงครั้งละ 1 จังหวะ

การเข้าเกียร์ D แล้วปล่อยไหล เกียร์จะเลือกเปลี่ยนขึ้นสู่เกียร์สูงเอง ความเร็วจะเพิ่มขึ้น เบรกทำงานหนัก จึงไม่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง

การถอยหลัง
ควรเหยียบแป้นเบรกก่อนเลื่อนคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง R รอจนคลัตช์จับตัวให้สนิท ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 วินาที แล้วจึงค่อยปล่อยเบรกพร้อมกับแตะคันเร่งเบา ๆ เพื่อถอยหลัง

การเบรกและจอด
ในการเบรก อย่าปลดไปที่เกียร์ว่าง - N ในขณะที่รถยนต์ยังไม่หยุดสนิท เพราะจะทำให้เกิดแรงเฉื่อยของตัวรถยนต์มากขึ้น เบรกทำงานหนัก และระยะเบรกอาจยาวขึ้น รวมถึงอาจเกิดความเสียหายกับชุดเกียร์

เมื่อจอดติดไฟแดงควรประเมินสถานการณ์ก่อน ถ้าติดไม่นานให้เหยียบเบรกค้างไว้ ขณะที่เกียร์ยังอยู่ในตำแหน่ง D ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ เพราะการตัดต่อการส่งกำลังของระบบเกียร์อัตโนมัติ สามารถหมุนฟรีได้ โดยไม่มีการสึกหรอ และการเปลี่ยนเกียร์สลับไปมาระหว่าง N และ D บ่อยเกินไป จะทำให้ชุดเกียร์มีความสึกหรอมากขึ้น

ถ้ากังวลว่าไฟเบรกจะสร้างความรำคาญให้ผู้ขับคันหลัง โดยเฉพาะเวลากลางคืน อาจใช้วิธีดังเบรกมือแทนการเหยียบเบรก โดยเกียร์ยังอยู่ที่ตำแหน่ง D เหมือนเดิม

หากติดนานเกิน 5-10 นาที อาจปลดเป็นเกียร์ว่าง เพราะการจอดโดยเหยียบเบรกค้างไว้ และเกียร์อยู่ในจังหวะขับเคลื่อนเป็นเวลานานเกินไป ทำให้เครื่องยนต์มีภาระ และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงขึ้นเล็กน้อย

ไม่ควรเข้าเกียร์ P เพราะต้องเลื่อนคันเกียร์ผ่านเกียร์ถอยหลัง จนเกิดความสับสนต่อผู้ขับรถยนต์ และหากถูกชน สลักเกียร์อาจหักได้ แม้ค่าซ่อมไม่แพง แต่ยุ่งยาก เพราะต้องรื้อเกียร์เพื่อเปลี่ยนสลัก เมื่อจะต้องออกตัวครั้งต่อไปก็ต้องเลื่อนคันเกียร์จาก P ผ่าน R และ N มายัง D ทำให้ขาดความฉับไวในการออกตัว

การโยกรถยนต์เมื่อตกหล่ม
ควรเหยียบเบรก พร้อมดันคันเกียร์มาที่จังหวะต่ำสุดของเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งบางรุ่นแตกต่างกัน อาจจะเป็นเกียร์ L1 (เกียร์1) หรือเกียร์ L2 ที่รวมจังหวะ 1-2 ไว้ด้วยกัน

ขณะโยกรถยนต์เพื่อให้รถยนต์ที่ตกหล่มสามารถขึ้นมาได้ ต้องมั่นใจว่าทางข้างหน้าไม่มีสิ่งกีดขวางหรือคน เพราะขณะที่เหยียบคันเร่งส่ง รถยนต์อาจจะพุ่งไปข้างหน้าได้

การลาก
สามารถทำได้ แต่ไม่ควรลากระยะทางยาวหรือใช้ความเร็วสูง เพราะเมื่อเครื่องยนต์ไม่ทำงาน ปั๊มน้ำมันเกียร์ และระบบเกียร์จะไม่ทำงาน น้ำมันเกียร์ไม่มีการหมุนเวียน ไม่มีการระบายความร้อนตามปกติ เมื่อลากนาน ๆ น้ำมันเกียร์จะร้อนละทำให้เกียร์เสียหาย

การลากรถยนต์เกียร์อัตโนมัติที่ถูกต้อง ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 30-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง และไม่ควรลากไกลเกิน 40-50 กิโลเมตร (สามารถดูได้จากคู่มือประจำรถยนต์แต่ละคัน)

ถ้าจำเป็นต้องลากไกลมาก ๆ ควรจอดพักเป็นระยะเพื่อให้น้ำมันเกียร์คลายความร้อน หรือถอดเพลาขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องไปยังชุดเกียร์ออก ถ้าไม่สะดวกต้องยกล้อขับเคลื่อนขึ้น


การเปลี่ยนน้ำมันเกียร์
การส่งกำลังของระบบเกียร์อัตโนมัติ ใช้น้ำมันเกียร์ตลอดการทำงาน การเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามระยะทางที่กำหนดเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง และถ้ารถยนต์ถูกใช้งานบนการจราจรที่ติดขัดหรือหลังลุยน้ำ ควรเปลี่ยนน้ำมันเกียร์เร็วขึ้นบ้าง เพราะค่าซ่อมเกียร์แพงกว่าค่าน้ำมันเกียร์หลายเท่าตัว

3 Aug 2005  |  Post by : 7-11

Comment


>

Pooyingnaka Wellness

Webboard
โพสต์โดย: admin 144
โพสต์โดย: catapop 1
โพสต์โดย: Meen 4
โพสต์โดย: smir 0
โพสต์โดย: heygorgeous-88 0
โพสต์โดย: netiri 8
โพสต์โดย: wonderpons 0
โพสต์โดย: botye 0

Interest Product