Talk About Women

รับมืออาการผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
รับมืออาการผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

1. วัยหมดประจำเดือน คืออะไร
วัยที่มีการทำงานของรังไข่ลดลงบางคนประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมออาจจะมาถี่ขึ้นในช่วงแรก และค่อยๆ ห่างออกมาจนหมดไปในที่สุด โดยต้องมีประวัติขาดประจำเดือนเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน โดยที่ไม่ได้มีสาเหตุจากความผิดปกติอื่นๆ ซึ่งมักเกิดในช่วงอายุ 47-50 ปี
2. ทำไมเรียกวัย 40+ ว่า "วัยทอง"
เมื่อเริ่มวัย 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีหน้าที่การงานที่มั่นคง รวมถึงมีครอบครัวและสังคมที่ดี จึงถือเป็นวัยแห่งความสำเร็จของชีวิต ดังนั้นจึงเป็นที่มาที่คนส่วนใหญ่มักเรียกวัยนี้ว่า "วัยทอง"
3. อาการวัยทอง เป็นอย่างไร
ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือขาดประจำเดือนร่วมกับมีอาการของการขาดฮอร์โมนเพศ เช่น ร้อนวูบวาบ, หงุดหงิดง่าย, นอนไม่หลับ, ปวดเมื่อยตามตัว, เหงื่อออกกลางคืน หรือมีภาวะช่องคลอดแห้ง เป็นต้น
4. แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะเข้าวัยทอง ตั้งแต่อายุยังน้อย
สามารถพบได้โดยผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการขาดประจำเดือน หรือมีอาการของการขาดฮอร์โมนเพศ/อาการวัยทองดังที่ได้กล่าวไปแล้ว หรือในกรณีที่การผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้าง ขณะอายุน้อย (น้อยกว่า 45 ปี) ก็ทำให้เข้าวัยทองฉับพลัน นอกจากนี้สตรีที่ได้รับยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาจากการรักษามะเร็งก็ทำให้เข้าวัยทองได้เช่นกัน นอกเหนือจากอาการวัยทอง ผู้ป่วยที่เข้าสู่วัยทองตั้งแต่อายุยังน้อยยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องในระยะยาว
5. แต่ละคนจะมีอาการวัยทองคล้ายกันไหม
อาการที่พบบ่อยที่สุดของวัยทอง คือ ประจำเดือนผิดปกติและอาการร้อนวูบวาบ ซึ่งความรุงแรงของอาการดังกล่าวแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับอายุ, เชื้อชาติ, ภูมิอากาศ, น้ำหนักตัว, สภาพแวดล้อม เป็นต้น
6. เมื่อเข้าวัยทองยังมีลูกได้ไหม
ผู้หญิงเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี ปริมาณไข่และคุณภาพของไข่จะเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญทำให้มีบุตรยากมากขึ้น เมื่อเข้าวัยหมดประจำเดือนรังไข่หยุดการทำงานไปแล้วหากต้องการตั้งครรภ์ต้องใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ โดยอาศัยไข่บริจาคเพื่อทำเด็กหลอดแก้ว แต่วิธีดังกล่าวเหมาะสำหรับผู้หญิงที่เข้าวัยทองตั้งแต่อายุน้อยเท่านั้นค่ะ ส่วนผู้หญิงที่เข้าวัยทองตามธรรมชาติไม่ควรตั้งครรภ์แล้วนะคะ เนื่องจากการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงต่อทั้งมารดาและทารก

7. ฮอร์โมนเพศมากจากไหน
ฮอร์โมนเพศหญิงประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนซึ่งสร้างจากรังไข่ โดยฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเกิดลักษณะต่างๆของเพศหญิง เช่น เสียงแหลม, สะโพกผาย, มีหน้าอก นอกจากนี้ยังควบคุมมดลูก ช่องคลอดและต่อมน้ำนมด้วย ส่วนโปรเจสเตอโรนจะทำงานร่วมกับเอสโตรเจนในการเกิดประจำเดือนและการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์
8. อาการร้อนวูบวาบในวัยทองเป็นอย่างไร
อาการเริ่มด้วยมีความรู้สึกร้อนบริเวณหน้าอกส่วนบน, ใบหน้า และค่อยๆไปทั่วลำตัว อาการเป็นอยู่ 2-4 นาที มักมีเหงื่อออกและใจสั่นร่วมด้วย บางครั้งมีอาการวิตกกังวลตามมามักเป็นหลายครั้งต่อวันและมักเกิดเวลากลางคืน อาการดังกล่าวจะหายได้เองใน 4-5 ปี หลังจากเข้าวัยหมดประจำเดือน
9. มีอาการแสบ เวลามีเพศสัมพันธ์
เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนระดับเอสโตรเจนในร่างกายจะต่ำมาก จึงทำให้เยื่อบุผิวช่องคลอดบางตัวลง มีภาวะช่องคลอดแห้ง นอกจากนี้การสร้างเมือกหล่อลื่นจากช่องคลอดก็ลดน้อยลง ทำให้มีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ได้
10. ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่ได้
การขาดเอสโตรเจนส่งผลให้เนื้อเยื่อและเส้นเลือดรอบกระเพาะปัสสาวะฝ่อเหี่ยวทำให้กลั้นปัสสาวะลำบาก เวลาไอ จาม หรือหัวเราะแรงๆ อาจเกิดปัสสาวะเล็ดได้ นอกจากนี้การที่เยื่อบุผิวของทางเดินปัสสาวะะบางลง ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะง่ายขึ้นคนไข้มักมีการปัสสาวะบ่อย หรือมีอาการปัสสาวะแสบขัดได้
“วัยทอง” เป็นช่วงชีวิตที่ผู้หญิงทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถอยู่กับวัยทองได้อย่างมีความสุข เพียงแค่ใส่ใจในการดูแลสุขภาพและปรึกษาสูตินรีแพทย์ หากอาการวัยทองของท่านรบกวนชีวิตประจำวันมากเกินไป


เรียบเรียงโดย พญ.ธนิฏฐา กองแก้ว
แพทย์เฉพาะทางด้านสูติ-นรีเวช
โรงพยาบาลธนบุรี 2



11 Oct 2019  |  Post by : online1111

Comment



Pooyingnaka Wellness

Webboard
โพสต์โดย: dek_kaset 0
โพสต์โดย: kartoons 5
โพสต์โดย: primchada7 0
โพสต์โดย: maxima consultants 0
โพสต์โดย: Rattiya69 0
โพสต์โดย: Rattiya69 2
โพสต์โดย: overseas 0
โพสต์โดย: welcomeonboard9 0

Interest Product