ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ
การที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็ว หรือช้าเกินไป
ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ
ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทก็สามารถป้องกันได้
ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น
และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
การป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
1.รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงหัวใจ เช่น
ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและกรดไขมันโอเมก้า 3
รวมถึงผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืช เป็นต้น
2.ออกกำลังกาย
ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือกิจกรรมที่ช่วยคลายความเครียด
3.หลีกเลี่ยงการสุบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์
การใช้ยาเสพติด การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
4.ควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับปกติ
5.อ่านคำเตือนบนฉลากก่อนใช้ยาทุกครั้ง
และใช้ยาด้วยความระมัดระวัง
โดยเฉพาะยาแก้ไอหรือยาแก้หวัดที่อาจมีส่วนผสมที่ไปกระตุ้นการทำงานของหัวใจ
6.ตรวจสุขภาพและไปพบแพทย์สม่ำเสมอ
ซึ่งการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
และสำคัญ เนื่องจากหากละเลย และปล่อยไว้ผลที่ตามมาจะรุนแรงเป็นอย่างมาก เช่น
การเกิดอัมพาต เพราะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดสมอง
จนถึงขั้นเสียชีวิตจากหัวใจอ่อนกำลังได้
ดังนั้นการป้องกัน หรือการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ
และควรทำเป็นอย่างยิ่ง โดยการรักษาโรคนี้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
การรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ
การใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ และการฝังเครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจ
เป็นต้น
#หัวใจเต้นผิดจังหวะ