โรคความดันสูง หรือความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงกว่าระดับปกติ โดยทั่วไปแล้วความดันสูงเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการ แต่เป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือไตวาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยความดันสูงต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้
รู้หรือไม่? ความดันสูง เสี่ยงโรคร้ายอะไรบ้าง
สำหรับสาเหตุของโรคความดันสูงกล่าวว่ามากกว่า 90% ของผู้ป่วยความดัน ไม่พบว่ามีสาเหตุมาจากอะไร นอกนั้นก็สามารถพบได้จากการเป็นโรคต่อมไร้ท่อบางชนิด โรคไต หรือโรคหลอดเลือดบางประเภท ส่วนปัจจัยที่ทำให้ความดันสูงมากขึ้นมีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น อายุ เพศ กรรมพันธุ์ หรือแม้แต่เชื้อชาติก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับความดันสูง นอกจากนี้ การเป็นโรคอ้วน หรือรับประทานอาหารเค็มจัดเป็นประจำ ก็ส่งผลให้ความดันสูงขึ้นได้
ดังที่กล่าวไปในเบื้องต้นว่าผู้ป่วยความดันสูงมักไม่แสดงอาการ แต่อาจมีบ้างที่รู้สึกปวดมึนท้ายทอย ตึงต้นคอ เวียนหัว หรือบางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะคล้ายไมเกรน สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะความดันสูงเป็นเวลานาน อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ ร่วมด้วย
โดยโรคความดันสูงนี้ แม้ตัวโรคจะไม่แสดงอาการมากนัก แต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายอื่น ๆ ตามมา ส่งผลกระทบต่อชีวิตในผู้ป่วยบางรายอาจถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ หากปล่อยไว้นานจะเป็นบ่อเกิดของอาการดังต่อไปนี้
เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ไตวายเรื้อรัง
หลอดเลือดหัวใจหนา หัวใจขาดเลือด หัวใจวาย
หลอดเลือดตีบ โป่งพอง เลือดไปเลี้ยงอวัยวะได้น้อยลง
มีผลต่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม
ขอบคุณข้อมูลจาก https://hillkoff.com/