งบการเงินมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เริ่มต้นธุรกิจต้องอ่าน!
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมธุรกิจบางแห่งถึงเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่บางแห่งกลับต้องปิดตัวลง? อาจเป็นเพราะการจัดสรรงบการเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จนทำให้บริษัทอาจถึงขั้นล้มละลายได้ งบการเงินจึงเปรียบเสมือนภาพรวมสุขภาพในธุรกิจของคุณ บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจโลกของงบการเงินอย่างละเอียด ตั้งแต่งบการเงิน หมายถึงอะไร? มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไรบ้าง? และงบการเงิน มีอะไรบ้าง? เพื่อให้คุณสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปได้
งบการเงิน คืออะไร มีไว้เพื่ออะไร?
งบการเงิน คือเอกสารที่แสดงสถานะทางการเงินของบริษัท โดยประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ ค่าใช้จ่าย และการไหลของเงินสด เพื่อให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถประเมินผลประกอบการและสภาพคล่องของบริษัทได้ หรือในอีกด้านหนึ่งงบการเงิน มีไว้เพื่อช่วยในการตัดสินใจด้านการลงทุน ตรวจสอบความมั่นคงทางการเงินของบริษัท และช่วยให้บริษัทเข้าใจการดำเนินการของตนเองมากยิ่งขึ้น
งบการเงิน มีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
ประโยชน์ของงบการเงิน มีดังนี้
ทำให้เข้าใจสถานะทางการเงินในธุรกิจของคุณ
การทำงบการเงินแสดงให้เห็นภาพรวมของธุรกิจของคุณในขณะนั้นว่ามีสินทรัพย์ หนี้สิน ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้คุณทราบว่าธุรกิจของคุณแข็งแรงหรืออ่อนแอในด้านใดบ้าง
ช่วยวิเคราะห์ผลประกอบการ
งบการเงินของบริษัทจะช่วยในการวิเคราะห์กำไรหรือขาดทุนแต่ละวันได้ เพราะจำเป็นต้องทำเอกสารที่แสดงรายได้และค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้คุณสามารถวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของธุรกิจ ณ ตอนนั้นได้
ช่วยวางแผนธุรกิจในอนาคต
เมื่อเข้าใจสถานะทางการเงินปัจจุบันและผลประกอบการในอดีต ก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวางแผนธุรกิจในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การตั้งเป้าหมายการเติบโต การลงทุน หรือการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องได้
ช่วยในการพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุน การจัดทำงบการเงินเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจว่าจะลงทุนในธุรกิจไหน โดยพิจารณาจากความแข็งแกร่งทางการเงิน โอกาสในการเติบโต และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ง่ายต่อการติดตามและควบคุมผลการดำเนินงาน
การเปรียบเทียบงบการเงินในแต่ละงวด จะช่วยให้คุณติดตามความคืบหน้าของธุรกิจ และตรวจสอบว่าการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ และหากพบความผิดปกติก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงที
สร้างความน่าเชื่อถือ
งบการเงินที่ถูกต้องและโปร่งใส จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจของคุณต่อลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ
ป้องกันปัญหาทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น
การวิเคราะห์งบการเงินอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้คุณมองเห็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น หนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือสภาพคล่องที่ลดลง ทำให้คุณสามารถแก้ไขปัญหาได้ก่อนที่จะบานปลาย
งบการเงินประกอบด้วยอะไรบ้างที่สำคัญๆ
องค์ประกอบของงบการเงินประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก ดังนี้
1. งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น
แสดงการเปลี่ยนแปลงของส่วนของผู้ถือหุ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ช่วยให้เห็นว่าส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากสาเหตุใด เช่น กำไรสะสม เงินปันผลที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้น
2. งบกำไรขาดทุน
แสดงรายละเอียดของรายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไรสุทธิของธุรกิจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่จะช่วยให้เห็นว่าธุรกิจทำกำไรได้เท่าไหร่ รายได้มาจากไหน ค่าใช้จ่ายหลักคืออะไร และอะไรที่ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นหรือลดลง
3. งบดุลหรืองบแสดงฐานะการเงิน
งบแสดงฐานะการเงิน หมายถึงภาพรวมของฐานะทางการเงินของธุรกิจ ณ วันที่สิ้นงวด เช่น มีสินทรัพย์อะไรบ้าง (เช่น เงินสด อาคาร สินค้าคงเหลือ) มีหนี้สินอะไรบ้าง (เช่น หนี้สินจากการซื้อสินค้า หนี้สินจากการกู้ยืม) และส่วนของเจ้าของมีเท่าไหร่ โดยมีสูตรง่ายๆ คือ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น
4. งบกระแสเงินสด
แสดงให้เห็นการไหลเข้าและไหลออกของเงินสดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน ทำให้เข้าใจว่าธุรกิจมีเงินสดใช้จ่ายเพียงพอหรือไม่ เงินสดถูกนำไปใช้ในกิจกรรมใดบ้าง และมีการจัดหาเงินทุนมาจากแหล่งไหนบ้าง
5. หมายเหตุประกอบงบการเงิน
เป็นส่วนที่อธิบายรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงบการเงิน เช่น นโยบายบัญชีที่ใช้ วิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคา ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายการต่างๆ ในงบการเงิน
สรุป งบการเงิน กุญแจไขความสำเร็จของธุรกิจของคุณ
รูปแบบงบการเงินทั้ง 5 ส่วนนี้มีความสำคัญต่อการบริหารธุรกิจอย่างมาก เพราะจะช่วยให้คุณเห็นภาพรวมของธุรกิจได้อย่างชัดเจน และสามารถนำข้อมูลจากงบการเงินมาวางแผนธุรกิจในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับนักลงทุน งบการเงินเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจลงทุน เพราะจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจได้ การอ่านงบการเงินเป็น จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและนำธุรกิจของคุณไปสู่ความสำเร็จได้